การประเมินความเต็มใจจ่ายต่อปีสุขภาวะ โดยใช้สถานการณ์ตาบอด
สิรินทร์ นาถอนันต์
Ph.D (Health Economics), Ph.D (Pharmacy Administration), มนทรัตม์ ถาวรเจริญทรัพย์, ยศ ตีระวัฒนานนท์
บทคัดย่อ
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินความเต็มใจจ่ายต่อปีสุขภาวะของประชากรไทยในบริบทของการป้องกันและการรักษาโรค โดยใช้สถานการณ์ตาบอดเป็นสถานการณ์สมมติ การศึกษาครั้งนี้เป็นการสำรวจแบบภาคตัดขวาง (Cross sectional survey) ในประชากรทั่วไปอายุ 15 – 65 ปี จากทุกภูมิภาคของประเทศ 9 จังหวัดรวมถึงกรุงเทพมหานคร โดยใช้แบบสอบถามที่พัฒนาขึ้นซึ่งประกอบไปด้วยข้อมูลทั่วไปของผู้ตอบ, การวัดอรรถประโยชน์สุขภาพของสถานะสุขภาพปัจจุบัน,ตาบอด1ข้างและตาบอด 2 ข้าง ด้วยวิธี Visual Analog Scale (VAS) และ Time Trade Off (TTO) และการวัดค่าความเต็มใจจ่ายสำหรับการป้องกันและการรักษาตาบอดโดยวิธีการต่อรองราคาและการถามคำถามปลายเปิดซึ่งคำตอบที่ได้รับจะนำมาใช้คำนวณค่าความเต็มใจจ่ายต่อปีสุข ภาวะในสถานการณ์ป้องกันและรักษาโรคโดยใช้อัตราปรับลดร้อยละ 3 ผลการศึกษาพบว่า ความเต็มใจจ่ายสำหรับการรักษาตาบอดมีค่ามากกว่าความเต็มใจจ่ายสำหรับการป้องกันตาบอดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ความเต็มใจจ่ายสำหรับการรักษาและป้องกันตาบอด 1 ข้างมีค่าน้อยกว่า สำหรับตาบอด 2 ข้าง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ จากการวิเคราะห์ตัวแปรเดี่ยวพบว่า ความเต็มใจจ่ายต่อปีสุขภาวะมีค่าตั้งแต่ 113,471.95 บาท 136,900.79 บาท 184,716.56 บาท และ 285,331.00 บาทจากสถานการณ์การป้องกันตาบอด 2 ข้าง สถานการณ์การป้องกันตาบอด 1 ข้าง ถานการณ์การรักษาตาบอด 2 ข้าง และสถานการณ์การรักษาตาบอด 1 ข้าง ตามลำดับ อย่างไรก็ตามจากการวิเคราะห์หลายตัวแปรพร้อมกัน พบว่า ความเต็มใจจ่ายต่อปีสุขภาวะสำหรับสถานการณ์การรักษาตาบอด มีค่า 70,571 บาท ภายหลังจากกการควบคุมตัวแปรร่วมอื่นๆ ได้แก่ เพศรายได้ ครอบครัว และ ที่ตั้งของครัวเรือน อย่างไรก็ตามไม่พบว่าความเต็มใจจ่ายในสถานการณ์ป้องกันมีความสัมพันธ์กับจำนวนปีสุขภาวะที่เพิ่มขึ้น การศึกษาในเบื้องต้นนี้พบว่า ความเต็มใจจ่ายต่อปีสุขภาวะในประชากรไทยมีค่าต่ำกว่าค่าที่องค์การอนามัยโลกแนะนำคือสามเท่าของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อหัวประชากร อย่างไรก็ตามยังคงต้องมีการศึกษาต่อไปอีกหากต้องการทราบค่าความเต็มใจจ่ายต่อปีสุขภาวะเพื่อใช้เป็นเพดานในการตัดสินใจเกี่ยวกับการกระจายทรัพยากรในระบบสุขภาพ
ที่มา
เภสัชศาสตรมหาบัณฑิต (บริหารเภสัชกิจ) คณะ - มหาวิทยาลัยมหิดล ปี 2552
คำสำคัญ
willingness-to-pay, BLINDNESS, CONTINGENT SCENARIO, QAULITY-ADJUSTED LIFE YEAR, WILLINGNESS-TO-PAY PER QAULITY-ADJUSTED LIFE YEAR