การวิเคราะห์ต้นทุนอรรถประโยชน์ของการรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตันระยะเฉียบพลันด้วยสายสวนหลอดเลือดสมอง
ธนบูรณ์ วรกิจธำรงค์ชัย*, ประสูตร ถาวรชัยสิทธิ์, สุคนธา คงศีลสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
บทคัดย่อ
การรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองขนาดใหญ่ตีบหรืออุดตันระยะเฉียบพลันด้วยสายสวนหลอดเลือดสมองเป็นมาตรฐานในการรักษาและมีประสิทธิผล การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาต้นทุนอรรถประโยชน์ของการรักษาผู้ป่วยด้วยสายสวนหลอดเลือดสมอง โดยการเก็บข้อมูลย้อนหลังในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตันระยะเฉียบพลันในสถาบันประสาทวิทยาที่รักษาด้วยสายสวนหลอดเลือดสมอง กับที่ได้รับยาละลายลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำในปี พ.ศ. 2558-2563 พบว่า ผู้ป่วยทั้งหมด 106 ราย รักษาด้วยสายสวนหลอดเลือดสมอง 66 ราย กับรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ 40 ราย มีต้นทุนรวมของการรักษาด้วยสายสวนหลอดเลือดสมองและการรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ เท่ากับ 568,587 บาท และ 121,582 บาทตามลำดับ โดยผู้ป่วยทั้งเพศชายและหญิงที่รักษาด้วยสายสวนหลอดเลือดสมองมีผลลัพธ์ทางสุขภาพในรูปของปีสุขภาวะสูงกว่าผู้ป่วยที่รักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ สำหรับอัตราส่วนต้นทุนประสิทธิผลส่วนเพิ่มของการรักษาด้วยสายสวนหลอดเลือดสมองในผู้ป่วยเพศชายเท่ากับ 99,184 บาท ต่อปีสุขภาวะ และในผู้ป่วยเพศหญิงเท่ากับ 82,715 บาท ต่อปีสุขภาวะ สรุปผลการศึกษา: การรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตันระยะเฉียบพลันด้วยสายสวนหลอดเลือดสมองมีความคุ้มค่าที่ความเต็มใจจ่ายในบริบทประเทศไทย 160,000 บาท ต่อปีสุขภาวะ
ที่มา
วารสารวิจัยระบบสาธารณสุข ปี 2565, October-December
ปีที่: 16 ฉบับที่ 4 หน้า 472-487
คำสำคัญ
ต้นทุนอรรถประโยชน์, Cost utility, mechanical thrombectomy, intravenous thrombolysis, acute ischemic stroke, การรักษาด้วยสายสวนหลอดเลือดสมอง, การรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ, โรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตันระยะเฉียบพลัน