ต้นทุนอรรถประโยชน์ของการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยเครื่องแมมโมแกรม 1 ครั้งในชีวิตของผู้หญิงไทย
ธัญญรัตน์ อโนทัยสินทวี*, นริสา ตัณทัยย์, ยศ ตีระวัฒนานนท์
โครงการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข
บทคัดย่อ
                มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยที่สุดในผู้หญิงไทย อุบัติการณ์ คือ 25.6 คนต่อผู้หญิงไทย 100,000 คน ปัจจุบันมีเพียงการตรวจคัดกรองด้วยเครื่องแมมโมแกรมที่มีหลักฐานยืนยันว่าสามารถลดอัตราการตายจากมะเร็งเต้านมได้ แต่ด้วยข้อจำกัดด้านงบประมาณ เครื่องมือ และจำนวนบุคลากร การจัดระบบคัดกรองด้วยเครื่องแมมโมแกรมในระดับประชากรจึงทำได้ยาก ดังนั้นการคัดกรองด้วยเครื่องแมมโมแกรม 1 ครั้งในชีวิตน่าจะเป็นไปได้มากกว่า การศึกษานี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินต้นทุนอรรถประโยชน์ของการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยเครื่องแมมโมแกรม 1 ครั้งในชีวิตของผู้หญิงไทยอายุ 40-49 ปี และ 50-59 ปี โดยใช้แบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ อัตราส่วนต้นทุนประสิทธิผลส่วนเพิ่มของการตรวจคัดกรองในผู้หญิงทุกคน ระหว่างอายุ 40-49 ปี และอายุ 50-59 ปี ด้วยเครื่องแมมโมแกรม 1 ครั้งในชีวิต เมื่อเทียบกับการคัดกรองแบบ opportunistic screening เท่ากับ 1,847,481 บาท และ 1,368,764 บาท ตามลำดับ มาตรการนี้จึงไม่มีความคุ้มค่าในบริบทของประเทศไทย
ที่มา
วารสารวิจัยระบบสาธารณสุข ปี 2556, July-September ปีที่: 7 ฉบับที่ 3 หน้า 413-420
คำสำคัญ
Cost-utility, screening, Breast cancer, ต้นทุนอรรถประโยชน์, มะเร็งเต้านม, ตรวจคัดกรอง