ต้นทุนผลได้ของการตรวจกรองและวินิจฉัยก่อนคลอดของกลุ่มอาการดาวน์ในประเทศไทย
จันทนา พัฒนเภสัช, ยศ ตีระวัฒนานนท์, อุษณา ตัณมุขยกุล
โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ
บทคัดย่อ
                การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบต้นทุนผลได้ของวิธีตรวจกรองและวินิจฉัยก่อนคลอดของกลุ่มอาการดาวน์ในหญิงตั้งครรภ์โดยสร้างสถานการณ์จำลองเพื่อหาแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย วิเคราะห์ต้นทุนผลได้โดยใช้ decision tree ทั้งมุมมองรัฐและสังคม
                การศึกษาพบว่าการตรวจกรองในหญิงตั้งครรภ์ทุกราย หากพบผลบวกจะได้รับคำแนะนำให้เจาะน้ำคร่ำมีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ มีผลได้มากกว่าต้นทุน 1.03-1.24 เท่า หรือมีผลได้ 73-623 บาทต่อหญิงตั้งครรภ์ 1 ราย ทั้งนี้ขึ้นกับวิธีการตรวจกรองที่ใช้ จำนวนเด็กกลุ่มอาการดาวน์ลดลงมากกว่าครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับสถานการณ์ที่ไม่มีการดำเนินการใดๆ จำนวนการแท้งจากการเจาะน้ำคร่ำมีประมาณ 100-300 รายต่อปี ซึ่งน้อยกว่าสถานการณ์อื่น ทำให้ลดการเสียชีวิตของเด็กปรกติโดยไม่จำเป็น นอกจากนี้ การตรวจกรองทางห้องปฏิบัติการยังสามารถให้บริการได้ในโรงพยาบาลขนาดเล็ก หญิงตั้งครรภ์จึงสามารถเข้าถึงบริการได้มากกว่าสถานการณ์อื่น
                อย่างไรก็ดี การตรวจกรองมีหลายวิธี การเลือกวิธีการตรวจที่เหมาะสมในทางปฏิบัติ นอกจากประเด็นด้านความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์แล้ว ยังต้องพิจารณาปัจจัยอื่นร่วมด้วย เช่น ความสามารถของห้องปฏิบัติการตรวจกรองและตรวจโครโมโซมจากน้ำคร่ำ ระยะเวลาที่มาฝากครรภ์ งบประมาณที่ต้องใช้ นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงผลกระทบจากการมีโปรแกรมตรวจกรองและตรวจวินิจฉัย เช่น ผลลบลวงจากการตรวจกรองการแท้งจากการเจาะน้ำคร่ำ เป็นต้น
 
ที่มา
วารสารวิชาการสาธารณสุข ปี 2555, July - August ปีที่: 21 ฉบับที่ 4 หน้า 667-684
คำสำคัญ
Cost-benefit analysis, ความคุ้มค่า, Down syndrome, prenatal screening, prenatal diagnosis, Universal Health Coverage Scheme, ดาวน์ซินโดรม, ตรวจกรองก่อนคลอด, ตรวจวินิจฉัยก่อนคลอด, โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า, ต้นทุนผลได้