การวิเคระห์ต้นทุน-ผลได้ของการให้ยาต้านไวรัสเอชไอวีในโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์
สมชาติ โตรักษา, สุคนธา คงศีล, สุขุม เจียมตน, วรรณี ชัยศิริเพ็ญภาค*
ภาควิชาบริหารงานสาธารณสุข คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
บทคัดย่อ
                การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ต้นทุน-ผลได้ของการให้ยาต้านไวรัสเอชไอวี ในการรักษาผู้ป่วยเอดส์ผู้ใหญ่ ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ในโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ของ ปีงบประมาณ 2551 โดยใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ เพื่อเก็บข้อมูลต้นทุนภายในของผู้ให้บริการ และต้นทุนภายนอกของผู้ใช้บริการ ส่วนผลได้นั้นได้จากการสัมภาษณ์ถึงความเต็มใจที่จะจ่ายด้วยวิธีสมมุติเหตุการณ์ให้ประเมินค่า ของผู้ใช้บริการจำนวน 200 ราย ประกอบด้วยผู้ป่วยนอก 160 ราย และผู้ป่วยใน40 ราย
                จากการศึกษาพบว่าต้นทุนการให้ยาต้านไวรัสเอชไอวี ในปีงบประมาณ2551 ต้นทุนทั้งหมดเท่ากับ 11,366,561.18 บาท ต้นทุนเฉลี่ยต่อครั้งการมารับบริการผู้ป่วยนอก เท่ากับ 1,380.87 บาท และต้นทุนเฉลี่ยต่อครั้งการนอน เท่ากับ 3,067.16 บาท ด้านผลได้พบว่าความเต็มใจที่จะจ่ายของผู้ใช้บริการของผู้ป่วยนอก เท่ากับ 681.70 บาท และผู้ป่วยในเท่ากับ 874.50 บาท เมื่อรวมกับต้นทุนที่หลีกเกลี่ยงได้จากการรับยาต้านไวรัสเอชไอวี พบว่าอัตราส่วนผลได้ต่อต้นทุน ของผู้ป่วยนอก เท่ากับ 5.31 และผู้ป่วยในเท่ากับ 4.06 จึงสามารถสรุปได้ว่า การให้ยาต้านไวรัสเอชไอวีมีความคุ้มค่า ข้อเสนอแนะจากการศึกษา ควรให้ความสำคัญกับการบริหารยาต้านไวรัสเอชไอวี และบริหารบุคลากรทั้งในระดับประเทศ และระดับพื้นที่ในโรงพยาบาลต่างๆ โดยการบริหารยาต้านไวรัสนั้น สามารถทำได้ด้วยการจ่ายยาให้ตามที่กินจริงเท่านั้น เพื่อช่วยเพิ่มประโยชน์ทั้งในการประหยัดต้นทุน และเพิ่มความร่วมมือในกินยาต้านไวรัสเอชไอวีของผู้ป่วย
 
ที่มา
วารสารวิชาการสาธารณสุข ปี 2554, September-October ปีที่: 20 ฉบับที่ 5 หน้า 758-765
คำสำคัญ
Cost-benefit analysis, ยาต้านไวรัสเอชไอวี, การวิเคราะห์ต้นทุน-ผลได้, ความเต็มใจที่จะจ่าย, Antiretroviral therapy, universal health coverage