การบริบาลทางเภสัชกรรมสำหรับผู้ป่วยนอกโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ที่โรงพยาบาลเทพธารินทร์
พนารัตน์ แสงแจ่มM.S. (Nutrition), Ph.D. (Clinical Pharmacy), จงจิตร อังคทะวานิช, ปรีชา มนทกานติกุล, เฉลิมศรี ภุมมางกูร
บทคัดย่อ
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินผลการให้การบริบาลทางเภสัชกรรมต่อระดับน้ำตาลในเลือด ความร่วมมือในการใช้ยาและค่าใช้จ่ายด้านยา ในผู้ป่วยนอกโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ที่โรงพยาบาลเทพธารินทร์ ในระหว่างวันที่ 19 กันยายน 2544 ถึง 30 สิงหาคม 2545 ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ที่มีระดับ glycosylated hemoglobin มากกว่า 8.0 % ถูกสุ่มเข้ากลุ่มที่ได้รับการบริบาล ทางเภสัชกรรมหรือกลุ่มควบคุม และทำการติดตามผลติดต่อกัน 4 ครั้งของการมาพบแพทย์ ผู้ป่วยในกลุ่มควบคุมได้รับการดูแลตามมาตรฐานของโรงพยาบาลเทพธารินทร์ ซึ่งประกอบด้วยการให้ความรู้เรื่องโรคเบาหวานและภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวาน การแปรผลระดับน้ำตาลในเลือด การเตรียมและการฉีดอินซูลิน อาหารสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน การติดตามระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเอง และการดูแลเท้าสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ป่วยในกลุ่มที่ได้รับการบริบาลทางเภสัชกรรมได้รับการดูแลตามมาตรฐานของโรงพยาบาลเทพธารินทร์เหมือนกลุ่มควบคุมและได้รับการบริการเพิ่มในด้านการค้นหา แก้ไขและป้องกันปัญหาจากการใช้ยาในการศึกษาครั้งนี้มีผู้ป่วยในกลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลองกลุ่มละ 38 คน พบว่าข้อมูลพื้นฐานของผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ ระดับน้ำตาลกลูโคสในพลาสมาขณะอดอาหารของกลุ่มควบคุม (19.34 + 51.08 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร) และกลุ่มทดลอง (183.71 + 58.97 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร) ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งระดับ glycosylated hemoglobin ทั้งในกลุ่มควบคุม (9.30 + 1.19%) และกลุ่มทดลอง (9.31 + 1.07%) เมื่อสิ้นสุดการศึกษาไม่พบความแตกต่างในการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำตาลกลูโคสในพลาสมาขณะอดอาหาร (- 12.03 + 62.31 mg/dl สำหรับกลุ่มควบคุม vs. - 28.33 + 67.31 mg/dl สำหรับกลุ่มทดลอง, p = 0.393) และ glycosylated hemoglobin (- 0.03 + 1.66% สำหรับกลุ่มควบคุม vs. - 0.28 + 1.53% สำหรับกลุ่มทดลอง, p = 0.485) ในระหว่างกลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลองจำนวนปัญหาจากการใช้ยาเฉลี่ยในกลุ่มทดลองลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเทียบกับเมื่อเริ่มการศึกษา (2.34 + 2.02 ปัญหา ในการมาพบแพทย์ครั้งที่หนึ่ง vs. 1.15 + 0.86 ปัญหา ในการมาพบแพทย์ครั้งที่สี่, p < 0.01) ขณะที่จำนวนปัญหาจากการใช้ยาเฉลี่ยในกลุ่มควบคุมไม่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (2.42 + 1.98 ปัญหา ในการมาพบแพทย์ครั้งที่หนึ่ง vs. 1.63 + 1.10 ปัญหาในการมาพบแพทย์ครั้งที่สี่, p = 0.121) อย่างไรก็ตามเมื่อเปรียบเทียบจำนวนปัญหาจากการใช้ยาเฉลี่ยของทั้งสองกลุ่มไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญค่าเฉลี่ยของความร่วมมือในการใช้ยาตามสั่งในผู้ป่วยกลุ่มทดลองโดยวิธีนับเม็ดยาอยู่ในช่วง 89.66% ถึง 95.65% อย่างไรก็ตามมีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่ไม่ได้รับการประเมินความร่วมมือในการใช้ยาตามสั่งในแต่ละครั้งที่พบแพทย์ โดยพบ 9 คน (23.68%) ในการมาพบแพทย์ครั้งที่สอง 11 คน (25.00%) ในการมาพบแพทย์ครั้งที่สาม และ11 คน (32.35%) ในการมาพบแพทย์ครั้งที่สี่ ดังนั้นอัตราการใช้ยาตามสั่งที่พบอาจสูงเกินความเป็นจริง นอกจากนี้พบว่าค่าใช้จ่ายด้านการใช้ยาของผู้ป่วยในกลุ่มทดลองเพิ่มขึ้น 6,246 บาท ซึ่งเป็นผลจากการให้การบริบาลทางเภสัชกรรม กล่าวโดยสรุปการให้การบริบาลทางเภสัชกรรมช่วยลดจำนวนปัญหาจากการใช้ยา ขณะที่ผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ สำหรับการศึกษาครั้งต่อๆ ไป ควรจะใช้จำนวนตัวอย่างซึ่งมี ปัญหาจากการใช้ยามากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาความไม่ร่วมมือในการใช้ยา
ที่มา
ภ.ม. (เภสัชกรรมคลินิก)
คณะ -
ปี 2547
คำสำคัญ
Diabetes mellitus, Pharmaceutical care, Type 2 diabetic patient