การวิเคราะห์ต้นทุน-ผลประโยชน์ของการรักษาโรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะส่วนบนโดยวิธีผ่าตัดและวิธีสลายนิ่ว
ชญาดา ศิริภิรมย์
Anek Hirunraks, Damrongpan Watanachoge., Debhanom Muangman, Som-Arch Whongkhomtong, Wisit Phijaisanit
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์เชิงเปรียบเทียบการบำบัดรักษาโรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะส่วนบนโดยวิธีผ่าตัดและวิธีสลายนิ่วเกี่ยวกับต้นทุน-ผลประโยชน์ กลุ่มผู้ป่วยตัวอย่าง อ ผู้ป่วยโรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะส่วนบนที่รับการผ่าตัดจำนวน 49 ราย และทำการสลายนิ่วจำนวน 46 ราย โดยมีนิ่วขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางต่ำกว่า 3 เซนติเมตร ซึ่งมารับการบำบัดรักษาที่แผนกศัลยกรรมยูโร โรงพยาบาลราชวิถี ในช่วงเดือนกันยายน 2532 ถึงมิถุนายน 2533 การบำบัดรักษาโรคนิ่วทั้ง 95 คนได้ดำเนินการโดยแพทย์แผนกศัลยกรรมยูโร 9 ท่าน ซึ่งเป็นผู้ให้ข้อมูลด้านการวินิจฉัย การรักษา การติดตามผลการรักษาของผู้ป่วย ส่วนข้อมูลด้านความเจ็บป่วย การรักษาก่อนมาโรงพยาบาล ค่าใช้จ่ายของผู้ป่วย ได้ทำการรวบรวมโดยการสัมภาษณ์ผู้ป่วยและญาติ ข้อมูลเอกสารด้านบัญชีรายรับ-รายจ่ายเกี่ยวกับผู้ป่วยได้เก็บบันทึกจากโรงพยาบาลจากการวิเคราะห์เชิงสถิติเบื้องต้น พบว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอายุ  39-42 ปี กลุ่มผ่าตัดมีภูมิลำเนาส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กลุ่มสลายนิ่วส่วนใหญ่อยู่ในภาคกลาง มีอาชีพรับจ้างทำนา ทำสวน ทำไร่ การศึกษาอยู่ในระดับประถมศึกษา มีรายได้เฉลี่ย อยู่ระหว่าง 78,505-102,935 บาท/ปี กลุ่มสลายนิ่วมีรายได้สูงกว่ากลุ่มผ่าตัด ทั้งสองกลุ่มมีอาการเรื้อรังก่อนมาโรงพยาบาล (30-40 เดือน) ซึ่งส่วนใหญ่แพทย์ตรวจพบและส่งมายังโรงพยาบาลราชวิถี อาการที่สำคัญ คือ ปวดบริเวณเอวด้านหลัง และท้องส่วนล่าง มีเลือดออกพร้อมปัสสาวะ บางรายมีไข้ อ่อนเพลียและอาเจียน อาการแทรกซ้อนที่พบในกลุ่มผ่าตัด คือ ตกเลือด เนื้อไตบอบช้ำ ต้องพักฟื้นนานราว 1-2 เดือน มี cost-saving สูง กลุ่มสลายนิ่วอยู่โรงพยาบาลนาน 1-2 วัน และหาย 90-100% เมื่อแพทย์ให้กลับบ้านผลการวิจัยสรุปได้ว่า กลุ่มผู้ป่วยที่เข้ารับการบำบัดด้วยวิธีสลายนิ่ว มีผลประโยชน์สุทธิเฉลี่ย (ต่อ 1 ราย) เป็น 1,063,642 บาท เทียบได้กับปริมาณเดียวกันกับผลประโยชน์สุทธิของผู้ป่วยที่เข้ารับการบำบัดรักษาด้วยวิธีผ่าตัดเป็น 584,790 บาท เมื่อพิจารณาผลการเปรียบเทียบ B/C ratio ระหว่างผู้ป่วยทั้งสองกลุ่ม พบว่า B/C ratio ของผู้ป่วยกลุ่มสลายนิ่ว : B/C ratio ของผู้ป่วยกลุ่มผ่าตัด เท่ากับ 5:3การวิเคราะห์ผลสืบเนื่องเพิ่มเติมด้าน sensitivity analysis พบประเด็นที่เป็นที่น่าสนใจ 2 ประเด็นด้วยกัน คือ  B/C ratio ของผู้ป่วยกลุ่มสลายนิ่วสูงกว่าผู้ป่วยกลุ่มผ่าตัดประมาณ 1 เท่าตัวในทุกอัตราคิดลด ( ตั้งแต่ .10 ถึง .20) และ B/C ratio ของผู้ป่วยกลุ่มสลายนิ่วมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นด้วยอัตราที่สูงกว่า B/C ratio ของผู้ป่วยกลุ่มผ่าตัด ภายใต้สมมุติฐานที่ผู้เข้ารับการบำบัดรักษาในแต่ละวิธีมีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 200 รายจนถึง 2,000 ราย
ที่มา
Doctor of Public Health มหาวิทยาลัยมหิดล ปี 2535