ผลได้เชิงเศรษฐศาสตร์และผลได้เชิงมนุษย์ ของการดำเนินงานบริบาลเภสัชกรรม ในผู้ติดเชื้อ เอช ไอ วี โรงพยาบาลเกาะคา จังหวัดลำปาง
อดิศยา เวลาดี
โชคชัย วงศ์สินทรัพย์
บทคัดย่อ
บทคัดย่อ (ภาษาไทย)การศึกษาวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลได้เชิงเศรษฐศาสตร์ และผลได้เชิงมนุษย์ ของการดำเนินงานบริบาลเภสัชกรรม ในผู้ติดเชื้อ เอช ไอ วี โรงพยาบาลเกาะคา จังหวัดลำปาง โดยใช้รูปแบบการศึกษาแบบเชิงทดลอง เก็บข้อมูลในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2546 ถึงเดือนมกราคม 2547 รวมระยะเวลา 3 เดือน โดยแบ่งผู้ป่วยเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 เป็นผู้ป่วยที่ได้รับการบริบาลเภสัชกรรม จำนวน 39 คน และกลุ่มที่ 2 เป็นผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการบริบาลเภสัชกรรม จำนวน 38 คน เก็บข้อมูลต้นทุนทางตรงที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการทางแพทย์ ต้นทุนทางตรงที่ไม่เกี่ยวข้องกับการให้บริการทางการแพทย์ และต้นทุนทางอ้อม เก็บข้อมูลคุณภาพชีวิตโดยใช้แบบสอบถาม MOS-HIV และ SF-36 เก็บข้อมูลอรรถประโยชน์โดยใช้ visual analogue scale วิเคราะห์ข้อมูลทั่วไปและข้อมูลการเจ็บป่วยโดยใช้สถิติ chi-square และเปรียบเทียบผลต่างของคะแนนคุณภาพชีวิตเฉลี่ยระหว่างผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่มโดยใช้สถิติ independent t-test วิเคราะห์ต้นทุน-ประสิทธิผลจากการดำเนินงานบริบาลเภสัชกรรมจากปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับยาที่ลดลงในผู้ติดเชื้อเอช ไอ วี ที่ได้รับการบริบาลเภสัชกรรม และวิเคราะห์ต้นทุน-อรรถประโยชน์จากการดำเนินงานบริบาลเภสัชกรรม ผลการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยที่ได้รับการบริบาลเภสัชกรรมมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการบริบาลเภสัชกรรม ในแบประเมินคุณภาพชีวิต MOS-HIV คะแนนคุณภาพชีวิตเฉลี่ยของผู้ป่วยเพิ่มขึ้นมากที่สุดในมิติ cognitive functioning รองลงมาคือมิติ health distress ส่วนในแบบประเมินคุณภาพชีวิต SF-36 คะแนนคุณภาพชีวิตเฉลี่ยของผู้ป่วยเพิ่มขึ้นมากที่สุดในมิติ social functioning รองลงมาคือมิติ mental health ในผู้ป่วยกลุ่มที่ได้รับการบริบาลเภสัชกรรมพบผู้ป่วยที่มีปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับยาลดลงจำนวน 17 คน และมีจำนวนปัญหาลดลง 24 ปัญหา ต้นทุนรวมทั้งหมด 21, 453 บาท เฉลี่ย 275 บาทต่อคน เป็นต้น ทุนทางตรงที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการทางการแพทย์ 14,543 บาท (ร้อยละ 67.79) ต้นทุนทางตรงที่ไม่เกี่ยวข้องกับการให้บริการทางการแพทย์ 1,015 บาท (ร้อยละ 4.73) และต้นทุนทางอ้อม 5,895 บาท (ร้อยละ 27.48) ในผู้ป่วยกลุ่มที่ไม่ได้รับการบริบาลเภสัชกรรมมีต้นทุนรวมทั้งหมด 18,676 บาท เฉลี่ย 245 บาทต่อคน เป็นต้นทุนทางตรงที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการทางการแพทย์ 12,901 บาท (ร้อยละ 69.08) ต้นทุนทางตรงที่ไม่เกี่ยวข้องกับการให้บริการทางการแพทย์ 940 บาท (ร้อยละ 5.03) และต้นทุนทางอ้อม 4,835 บาท (ร้อยละ 25.89) ต้นทุน-ประสิทธิผลในกลุ่มที่ได้รับการบริบาลเภสัชกรรม เท่ากับ 825 บาทต่อจำนวนปัญหาที่ลดลง 1 ปัญหา ต้นทุน-อรรถประโยชน์เท่ากับ 165,023 บาทต่ออรรถประโยชน์ ในกลุ่มที่ไม่ได้รับการบริบาลเภสัชกรรมมีต้นทุน-อรรถประโยชน์เท่ากับ 373,520 บาทต่ออรรถประโยชน์ อัตราส่วนต้นทุนต่ออรรถประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นจากการดำเนินงานบริบาลเภสัชกรรมเท่ากับ 15,428 บาท ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า การดำเนินงานบริบาลเภสัชกรรมช่วยลดปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับยาด้วยต้นทุนที่ต่ำ และเพิ่มคุณภาพชีวิตโดยเฉพาะในด้านจิตใจ แก่ผู้ติดเชื้อเอช ไอ วี
ที่มา
ปริญญาโท เภสัชกรรมคลินิก มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปี 2547