ประสิทธิผลของยากลูโคซามีน ซัลเฟต ชนิดฉีดเข้ากล้ามเนื้อ และกรดไฮยาลูโรนิกชนิดฉีดเข้าข้อ เมื่อใช้เคี่ยวหรือใช้ร่วมกันในการรักษาผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมที่โรงพยาบาลราชวิถี
ศิริพร เดชะ
พรอนงค์ อร่ามวิทย์
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อประเมินประสิทธิผลของยากลูโคซามีน ซัลเฟต และกรดไฮยาลูโรนิกเมื่อใช้เดี่ยวหรือใช้ร่วมกันในการรักษาผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อม วิธีการดำเนินการวิจัย: การวิจัยเชิงทดลองทางคลินิกแบบสุ่ม (Randomized, double-blind, placebo controlled trial) ดำเนินการวิจัยที่คลินิกโรคข้อและภูมิแพ้ กลุ่มงานอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลราชวิถีระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ 2547 ถึงตุลาคม 2547 ผู้ป่วยเข้าร่วมวิจัยทั้งหมด 64 ราย ได้รับการสุ่มให้ได้รับยาออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ได้รับกลูโคซามีน ซัลเฟต จำนวน 20 ราย กลุ่มที่ได้รับกรดไฮยาลูโรนิก จำนวน 22 ราย และกลุ่มที่ได้รับกลูโคซามีนซัลเฟต ร่วมกับกรดไฮยาลูโรนิก จำนวน 22 ราย ผู้ป่วยจะได้รับการประเมินการรักษาในด้าน 1) แบบประเมินสภาวะสุขภาพ 2) การติดตามภาพถ่ายทางรังสีวิทยา 3) ปริมาตรน้ำในข้อ 4) จำนวนยาเม็ดแก้ปวดพาราเซตามอลที่รับประทานต่อสัปดาห์ 5) การประเมินสภาวะทั่วไปของโรคโดยตัวผู้ป่วย 6) การประเมินสภาวะทั่วไปของโรคโดยแพทย์ผู้ตรวจ 7) ระยะเวลาที่ใช้เดิน 50 ฟุต 8) ระยะเวลาที่ใช้เดินลงบันได 10 ขั้น 9) ระยะเวลาที่ใช้เดินขึ้นบันได 10 ขั้น โดยติดตามทั้งหมดเป็นระยะเวลา 25 สัปดาห์ ผลการวิจัย: ผู้ป่วยทั้งหมด 64 ราย เป็นเพศหญิงร้อยละ 80.33 มีอายุเฉลี่ย 57.70+-7.70 ปี ผู้ป่วยจำนวน 61 รายที่เข้าร่วมการศึกษาจนครบ 25 สัปดาห์ (กลุ่มกลูโคซามีน ซัลเฟต 17 ราย กลุ่มกรดไฮยาลูโรนิก 22 ราย และกลุ่มกลูโคซามีน ซัลเฟต ร่วมกับกรดไฮยาลูโรนิก 22 ราย) จากการศึกษาประสิทธิผลการตอบสนองต่อการรักษาร้อยละ 20 ตามเกณฑ์ OMERACT III และประสิทธิผลในการรักษาหัวข้อต่างๆ พบว่า ผู้ป่วยที่ได้รับยากลูโคซามีนซัลเฟต ร่วมกับกรดไฮยาลูโรนิกมีประสิทธิผลดีกว่ากลุ่มที่ได้รับกลูโคซามีน ซัลเฟต เพียงอย่างเดียว พบความแตกต่างระหว่างกลุ่มยาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) และผู้ป่วยที่ได้รับกรดไฮยาลูโรนิกเพียงอย่างเดียวมีประสิทธิผลในการรักษาหัวข้อต่างๆ ดีกว่ากลุ่มที่ได้รับกลูโคซามีน ซัลเฟต เพียงอย่างเดียว พบความแตกต่างระหว่างกลุ่มยาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) เช่นกัน อย่างไรก็ตามไม่พบความแตกต่างระหว่างกลุ่มยาในหัวข้อการเดินขึ้นบันได 10 ขั้น สำหรับการติดตามอาการไม่พึงประสงค์ทางห้องปฏิบัติการ พบว่าไม่มีความแตกต่างระหว่างกลุ่มยา สำหรับอาการไม่พึงประสงค์ทางคลินิกจากกรดไฮยาลูโรนิก พบอาการปวดบริเวณที่ฉีดยาเข้าข้อ 14 ราย (3 รายในกลุ่ม กรดไฮยาลูโรนิก 11 รายในกลุ่มยาหลอกกรดไฮยาลูโรนิก) พบว่าแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญระหว่างกรดไฮยาลูโรนิกและยาหลอก และสำหรับกลูโคซามีน ซัลเฟต พบอาการปวดบริเวณฉีดยาเข้ากล้าม 4 ราย (1 รายในกลุ่มกลูโคซามีน ซัลเฟต และ 3 รายในกลุ่มยาหลอกกลูโคซามีน ซัลเฟต อย่างไรก็ตามไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญระหว่างกลูโคซามีน ซัลเฟตและยาหลอก สรุปผลการวิจัย: การใช้ยากลูโคซามีน ซัลเฟตร่วมกับกรดไฮยาลูโรนิก และยากรดไฮยาลูโรนิกเพียงอย่างเดียวในการรักษาผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมระยะเวลา 25 สัปดาห์นั้นมีแนวโน้ม เพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยในผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อม
ที่มา
เภสัชศาสตรมหาบัณฑิต คณะ เภสัชกรรมคลินิก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2547
คำสำคัญ
กรดไฮยาลูโรนิค, กลูโคซามีน, ข้อเข่า, ข้อเสื่อม, โรค