การศึกษาประสิทธิภาพและผลแทรกซ้อนของเครื่องมือกดห้ามเลือดจุฬาแคลมป์ เปรียบเทียบกับเครื่องแองจิโอซีล เพื่อใช้ห้ามเลือดภายหลังการสวนเส้นเลือดหัวใจหรือการขยายเส้นเลือดหัวใจ
สันติ ลิ้มอัมพรเพชร
สุรพันธ์ สิทธิสุข
บทคัดย่อ
ที่มาของงานวิจัย: เครื่องมือกดห้ามเลือดที่ประดิษฐ์ขึ้นในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จุฬา-เเคลมป์ เป็นเครื่องมือกดห้ามเลือดที่หลอดเลือดแดงบริเวณขาหนีบ(Femoral artery) ซึ่งจากการศึกษาก่อนหน้านี้พบว่าเครื่องมือดังกล่าวมีประสิทธิภาพและผลแทรกซ้อนไม่แตกต่างจากการกดห้ามเลือดด้วยมือ ดังนั้นผู้วิจัยจึงมีความสนใจว่าเครื่องมือนี้จะมีประสิทธิภาพและผลแทรกซ้อนแตกต่างจากเครื่องแองจิโอซีล (AngioSeal) ซึ่งเป็นเครื่องมือปิดรูรั่วของหลอดเลือดแดงที่นำเข้ามาจากต่างประเทศหรือไม่ วัตถุประสงค์: เพื่อเป็นการศึกษาประสิทธิภาพและผลแทรกซ้อนของเครื่องมือกดห้ามเลือดจุฬา-แคลมป์ (ซึ่งเป็นเครื่องมือกดห้ามเลือดที่ประดิษฐ์ขึ้น) เทียบกับการห้ามเลือดด้วยเครื่องแองจิโอซีล วิธีการดำเนินการ: เป็นการศึกษาไปข้างหน้า เชิงสุ่มตัวอย่างทดลองให้การรักษาในทางคลินิก โดยเปรียบเทียบประสิทธิภาพและผลแทรกซ้อนในการห้ามเลือดเส้นเลือดใหญ่ที่ขาหนีบ (femoral artery) ของเครื่องมือกดห้ามเลือดจุฬา-แคลมป์กับการห้ามเลือดด้วยวิธีใช้เครื่อง AngioSeal ประสิทธิภาพและผลแทรกซ้อนของการห้ามเลือดดูได้จาก อุบัติการณ์เกิดภาวะแทรกซ้อนของเส้นเลือดแดงที่ขาหนีบ และระยะเวลาในการนอนโรงพยาบาลภายหลังการสวนเส้นเลือดหัวใจ ผลการศึกษา: พบว่าผู้ป่วยทั้งหมด 163 ราย เป็นกลุ่มที่ได้รับการห้ามเลือดโดยการใช้เครื่องมือจุฬา-แคลมป์ 81 ราย และเป็นกลุ่มที่ใช้เครื่องแองจิโอซีล 82 ราย ได้รับการสุ่มเลือกวิธีการห้ามเลือดแต่พบว่ามีข้อมูลพื้นฐานของผู้ป่วยในกลุ่มที่ห้ามเลือดด้วยแองจิโอซีล มีน้ำหนัก ความดันโลหิตสูง จำนวนผู้ป่วยที่ได้รับการขยายหลอดเลือดแดงโคโรนารีด้วยบอลลูน และจำนวนผู้ป่วยที่ได้รับยา Clopidogrel สูงกว่ากลุ่มที่ห้ามเลือดด้วยจุฬาแคลมป์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ส่วนทั้งสองวิธีพบภาวะแทรกซ้อนกลุ่มละ 9 ราย โดยเครื่องมือจุฬา-แคลมป์ และเครื่องแองจิโอซีล มีภาวะแทรกซ้อนไม่ต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (Oozing 2.5% และ 4.5% p = 0.682, Swelling 2.5% และ 0% p = 0.245, Hematoma 3.7% และ 4.9% p = 1.00, Rebleed 2.5% และ 1.2% p = 0.62 ตามลำดับ) แต่อย่างไรก็ตามพบว่ากลุ่มผู้ป่วยที่ใช้เครื่องมือแองจิโอซีลจะมีระยะเวลาเฉลี่ยการนอนในโรงพยาบาลหลังจากที่ทำการสวนหลอดเลือดหัวใจที่สั้นกว่ากลุ่มที่ใช้เครื่องมือจุฬา-แคลมป์แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (16.20+8.84 ชั่วโมง และ 22.91+18.33 ชั่วโมง ตามลำดับ p = 0.01)
ที่มา
วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต คณะ อายุรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2547
คำสำคัญ
เวชภัณฑ์, หลอดเลือด