การศึกษาประสิทธิภาพของเครื่องมือกดห้ามเลือดที่ประดิษฐ์ขึ้น (จุฬา-แคลมป์) เพื่อใช้ห้ามเลือดภายหลังการสวนเส้นเลือดหัวใจหรือการขยายเส้นเลือดหัวใจ
วทัญญู ปลายเนตร
จักรพันธ์ ชัยพรหมประสิทธิ์
บทคัดย่อ
ที่มาของงานวิจัย: เครื่องมือกดห้ามเลือด จุฬา-แคลมป์ เป็นเครื่องมือกดห้ามเลือดที่หลอดเลือดแดงบริเวณขาหนีบ (Femoral artery) ที่ผู้วิจัยได้ผลิตขึ้นเพื่อให้มีประสิทธิภาพในการห้ามเลือดอย่างน้อยเท่ากับการกดห้ามเลือดด้วยมือ, มีราคาถูก, นำมาใช้ได้หลายครั้ง, ใช้ง่าย, ประกอบขึ้นจากวัสดุที่นำมาใช้ใหม่ (Recycle) วัตถุประสงค์:เพื่อเป็นการศึกษาประสิทธิภาพของเครื่องมือกดห้ามเลือดจุฬา-แคลมป์ (ซึ่งเป็นเครื่องมือกดห้ามเลือดที่ประดิษฐ์ขึ้น) เทียบกับการกดห้ามเลือดด้วยมือ วิธีการดำเนินการ: เป็นการศึกษาไปข้างหน้า เชิงสุ่มตัวอย่างทดลองให้การรักษาในทางคลินิก โดยเปรียบเทียบประสิทธิภาพในการห้ามเลือดของเครื่องมือกดห้ามเลือดจุฬา-แคลมป์กับการกดห้ามเลือดด้วยวิธีมาตรฐานเดิมคือการใช้กดห้ามเลือดในผู้ป่วยที่เข้ารับการส่วนเส้นเลือดแดงโคโรนารีหรือขยายเส้นเลือดแดงโคโรนารีด้วยบอลลูน โดยผ่านทางเส้นเลือดแดงใหญ่ที่ขาหนีบ (femoral artery) ระยะเวลาในการกดห้ามเลือดโดยการใช้เครื่องมือจุฬา-แคลมป์กำหนดให้เวลา 20 นาที ส่วนระยะเวลาในการกดห้ามเลือดด้วยมือใช้เวลา 15 นาที ประสิทธิภาพของการกดห้ามเลือดดูได้จากอุบัติการณ์เกิดภาวะแทรกซ้อนของเส้นเลือดใหญ่ที่ขาหนีบ (femoral vessel) ซึ่งเกิดภายหลังการห้ามเลือดทั้งสองวิธี ผลการศึกษา: พบว่าผู้ป่วยทั้งหมดกลุ่มละ 70 คนที่เข้ารับการสวนเส้นเลือดแดงโคโรนารีหรือขยายเส้นเลือดแดงโคโรนารีด้วยบอลลูนโดยผ่านทางเส้นเลือดแดงใหญ่ที่ขาหนีบ (femoral artery) และได้รับการสุ่มเลือกวิธีการกดห้ามเลือดต่างมีข้อมูลพื้นฐานของผู้ป่วยที่ไม่ต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ทั้งสองวิธีไม่พบภาวะแทรกซ้อนรุนแรงหลังการกดห้ามเลือดที่ขาหนีบทั้งสองกลุ่ม (serious vascular complication ได้แก่ groin hematoma, femoral artery thrombosis, pseudoaneurysm, arteriovenous fistulae) ส่วนการเกิด minor complication [ได้แก่รอยช้ำห้อเลือด(ecchymosis) และอาการบวม (swelling)] พบว่าทั้งสองกลุ่มเกิดขึ้นไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (รอยช้ำห้อเลือดทั้งสองกลุ่มเกิดขึ้น 8.5 % ส่วนอาการบวมกลุ่มมาตรฐานเกิด 2.9% ส่วนกลุ่มให้เครื่องมือจุฬา-แคลมป์เกิด 1.4 %, p-value >0.05%)
ที่มา
วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต คณะ อายุรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2547
คำสำคัญ
Chula-Clamp, เวชภัณฑ์