การศึกษาความเท่าเทียมทางคลินิคระหว่างวัสดุเคลือบหลุมร่องฟันที่ผลิตในประเทศและวัสดุเคลือบหลุ่มร่องฟันที่นำเข้านนฟันกรามแท้ซี่ที่หนึ่งในภาวะภาคสนาม
ศุทธิษา แต่บรรพกุล
สุภาภรณ์ จงวิศาล
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษาประสิทธิภาพของวัสดุเคลือบหลุมร่องฟันชนิดใสที่ผลิตขึ้นในประเทศ (พรีโวแคร์: คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ในการยึดติด ชนิด ตำแหน่งที่เกิดการหลุดของวัสดุและการป้องกันฟันผุในฟันกรามแท้ซี่ที่หนึ่ง เปรียบเทียบกับวัสดุเคลือบหลุมร่องฟันมาตรฐานที่นำเข้าจากต่างประเทศ (เดลตัน: บริษัทเดนสพลาย ประเทศสหรัฐอเมริกา) ในภาวะภาคสนาม ช่วงระยะเวลา 12 เดือน รูปแบบการศึกษา : การศึกษาทางคลินิกแบบสุ่มทดลองโดยมีกลุ่มเปรียบเทียบ สถานที่ทำการวิจัย : โรงเรียนประถมนนทรีและโรงเรียนพิบูลประชาสรรค์ จังหวัดกรุงเทพมหานคร ระเบียบวิธีวิจัย : คัดเลือกตัวอย่างฟันกรามแท้ซี่ที่หนึ่งล่างของเด็กนักเรียนประถมศึกษาปีที่ 1-3 ที่มีลักษณะตามข้อบ่งชี้ในการเคลือบหลุมร่องฟันในขากรรไกรเดียวกันจำนวน 138 คู่ฟัน ทำการศึกษาโดยจัดตัวอย่างเข้าศึกษาด้วยวิธีการสุ่มอย่างง่าย ให้ฟันข้างหนึ่งได้รับการเคลือบหลุมร่องฟันด้วยพรีโวแคร์ (กลุ่มทดลอง) และฟันอีกข้างได้รับการเคลือบหลุมร่องฟันด้วยเดลตัน (กลุ่มควบคุม) ทันตแพทย์หนึ่งคนทำการเคลือบหลุมร่องฟันโดยใช้เก้าอี้สนามและชุดทันตกรรมเคลื่อนที่ภายในโรงเรียนติดตามผลการยึดติดของวัสดุและการเกิดฟันผุโดยทันตแพทย์อีกคนที่ระยะเวลา 6 และ 12 เดือน นำมาพิจารณาความเท่าเทียมกันของวัสดุทั้งสองชนิด โดยยอมรับความแตกต่างของอัตราการยึดติดของวัสดุทั้งสองชนิด ไม่เกินร้อยละ 10 ที่ช่วงความเชื่อมั่นร้อยละ 95 ผลการศึกษา : เมื่อสิ้นสุดการศึกษา คงเหลือจำนวนตัวอย่าง 127 คู่ฟัน คิดเป็นร้อยละ 92 ของตัวอย่างเมื่อเริ่มการศึกษา พบว่าที่ระยะเวลา 6 เดือน ฟันที่ได้รับการเคลือบหลุมร่องฟันด้วยเดลตันและพรีโวแคร์ชนิดใส มีอัตราการยึดติดอย่างสมบูรณ์ร้อยละ 96.9 (ช่วงความเชื่อมั่นร้อยละ 95 : 93.9-99.9) และร้อยละ 98.5 (ช่วงความเชื่อมั่นร้อยละ 95 : 96.3-100) ตามลำดับ ความแตกต่างเฉลี่ยของอัตราการยึดติดระหว่างวัสดุทั้งสองกลุ่ม มีค่าเท่ากับร้อยละ 1.5 (ช่วงความเชื่อมั่นร้อยละ 95 : -2.9-6) ส่วนที่ระยะเวลา 12 เดือน อัตราการยึดติดอย่างสมบูรณ์ของวัสดุเดลตันและพรีโวแคร์มีค่าเท่ากับร้อยละ 93.7 (ช่วงความเชื่อมั่นร้อยละ 95 : 89.4-98) และร้อยละ 94.5 (ช่วงความเชื่อมั่นร้อยละ 95 : 90.5-98.5) ตามลำดับ ความแตกต่างเฉลี่ยของอัตราการยึดติดระหว่างวัสดุทั้งสองกลุ่ม มีค่าเท่ากับร้อยละ 0.8 (ช่วงความเชื่อมั่นร้อยละ 95 : -5.9-7.6) โดยไม่พบการผุในฟันทั้งสองกลุ่ม สรุปการศึกษา : วัสดุเคลือบหลุมร่องฟันที่พัฒนาขึ้นมีประสิทธิภาพในการยึดติดและป้องกันฟันผุในฟันกรามแท้ซี่ที่หนึ่งเท่าเทียมกับวัสดุเคลือบหลุมร่องฟันที่ได้มาตรฐานในภาวะภาคสนามเมื่อเวลาผ่านไป 12 เดือน
ที่มา
วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต คณะ ทันตกรรมสำหรับเด็ก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2547
คำสำคัญ
การป้องกัน, ฟันผุในเด็ก, วัสดุผนึกหลุมร่องฟัน