กาวไฟบรินช่วยลดระยะเวลาการใส่ท่อระบายน้ำเหลืองหลังการผ่าตัดเต้านมในผู้ป่วยมะเร็งเต้านม
ปิยะ เตียวประเสริฐ
จิตร สิทธิอมร
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์ : เพื่อเปรียบเทียบระยะเวลาการถอดท่อระบายน้ำเหลืองหลังการผ่าตัด Modified radical mastectomy ในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะแรก ระหว่างการใช้กาวไฟบรินกับยาหลอก รูปแบบการทดลอง : การทดลองทางคลินิกแบบสุ่มทดลอง สถานที่ทำวิจัย : โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า ผู้ป่วย : ผู้ป่วยหญิงที่ได้รับการวินิจฉัยโรคมะเร็งเต้านมระยะแรก จำนวน 64 ราย ผู้ป่วยกลุ่มที่ 1 ถูกสุ่มให้ได้รับ Fibrin sealant จำนวน 30 ราย อีกกลุ่มหนึ่งได้รับยาหลอกจำนวน 34 ราย การรักษา : หลังจากผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่ม ได้รับการผ่าตัด Modified radical mastectomy ก่อนการเย็บปิดผิวหนัง ในกลุ่มทดลองได้รับกาวไฟบรินขนาด 250 IU (2 มล.) สำหรับกลุ่มควบคุมได้รับ normal saline ปริมาณเท่ากันฉีดพ่นใต้ผิวหนังบริเวณรักแร้และฐานเต้านมเช่นเดียวกัน หลังจากนั้นได้เก็บข้อมูลระยะเวลาที่ใส่ท่อระบาย ระยะเวลาการอยู่โรงพยาบาล อัตราการเกิดการสะสมของน้ำเหลืองภายหลังการถอดท่อระบาย และผลแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น ผลการรักษา : ในกลุ่มที่ได้รับกาวไฟบรินสามารถถอดท่อระบายน้ำเหลืองออกได้ ใช้เวลาโดยเฉลี่ย 8 วัน ในขณะที่กลุ่มควบคุมใช้เวลาโดยเฉลี่ย 9 วัน อย่างไรก็ดี ไม่พบความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ในระหว่าง 2 กลุ่ม นอกจากนั้น ระยะเวลาการอยู่โรงพยาบาลในกลุ่มทดลองจะสั้นกว่ากลุ่มควบคุม 1 วัน อัตราการเกิดการสะสมของน้ำเหลืองภายหลังการถอดท่อระบายเป็น 33.33% ในกลุ่ม กาวไฟบรินและ 23.5% ในกลุ่มควบคุม และไม่พบความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ สรุปการทดลอง : การใช้กาวไฟบรินฉีดพ่นในระหว่างการผ่าตัด modified radical mastectomy ในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมนั้น ไม่สามารถช่วยลดระยะเวลาการใส่ท่อระบายน้ำเหลืองภายหลังการผ่าตัดลงได้ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ซึ่งผลจากการศึกษาครั้งนี้อาจจะเกิดจากปริมาณของกาวไฟบริน บริเวณที่ทำการฉีดพ่น ตลอดจนอุปกรณ์ที่ใช้ในการฉีดพ่น การศึกษาในตัวแปรเหล่านี้อาจนำมาซึ่งประสิทธิภาพที่ดีขึ้นของกาวไฟบริน
ที่มา
Master of Science คณะ Health Development จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2542
คำสำคัญ
surgery, Cancer, Breast, adhesive, Drainage, Fibrin, Surgical, tissue