ประสิทธิผลของการขยายลิ้นไมตรัลตีบด้วยการสวนหัวใจผ่านหลอดเลือดดำ : การศึกษาเปรียบเทียบแบบสุ่มระหว่างบอลลูนชนิดอินุเยกับอุปกรณ์ขยายลิ้นหัวใจแบบโลหะ
สมนพร บุณยะรัตเวช สองเมือง
กัมมันต์ พันธุมจินดา
บทคัดย่อ
บทนำ ลิ้นไมตรัลตีบจากไข้รูห์มาติกเป็นโรคที่ยังพบได้บ่อยในประเทศที่กำลังพัฒนารวมทั้งประเทศไทย ทำให้เกิดอาการในผู้ป่วยที่อยู่ในวัยทำงานทำให้เกิดความสูญเสียแรงงาน ปัจจุบันสามารถรักษาโดยการขยายลิ้นไมตรัลโดยใช้บอลลูนชนิดอินุเยเป็นเครื่องมือในการขยาย เนื่องจากบอลลูนอินุเยมีราคาแพง ทำให้ต้องนำไปฆ่าเชื้อและนำกลับมาใช้ซ้ำอีก ต่อมามีผู้ประดิษฐ์อุปกรณ์ขยายลิ้นหัวใจแบบโลหะ โดยสามารถนำไปฆ่าเชื้อและนำกลับมาใช้ซ้ำอีกได้ การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิผลของการขยายลิ้นไมตรัลตีบด้วยการสวนหัวใจโดยศึกษาเปรียบเทียบระหว่างบอลลูนชนิดอินุเยกับอุปกรณ์ขยายลิ้นหัวใจแบบโลหะรูปแบบการวิจัย การวิจัยเชิงวิเคราะห์ชนิดมีกลุ่มเปรียบเทียบ โดยจัดแบ่งกลุ่มประชากรแบบสุ่ม โดยผู้ประเมินผลการรักษาไม่ทราบว่าใช้เครื่องมือแบบใดสถานที่ทำการวิจัย หน่วยโรคหัวใจ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ประชากร ผู้ป่วย 60 รายที่มารับการขยายลิ้นไมตรัลด้วยการสวนหัวใจที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์วิธีการ ผู้ป่วยกลุ่มที่ 1 (30 ราย) ได้รับการขยายลิ้นไมตรัลด้วยการสวนหัวใจผ่านหลอดเลือดดำด้วยบอลลูนชนิดอินุเย กลุ่มที่ 2 (30 ราย) ได้รับการขยายลิ้นไมตรัลด้วยอุปกรณ์ขยายลิ้นหัวใจแบบโลหะการประเมินผล ความสำเร็จในการขยายลิ้นไมตรัล โดยกำหนดให้ความสำเร็จในการขยายลิ้นไมตรัลประเมินจากหลังการขยายแล้ว 1. พื้นที่หน้าตัดของลิ้นไมตรัล มากกว่าหรือเท่ากับ 1.5 ตร.ซม.(โดยวัดจากการตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ) และ 2. ลิ้นไมตรัลรั่ว น้อยกว่าหรือเท่ากับ เกรด 2 (โดยใช้การประเมินจากการฉีดสารทึบรังสีตามแบบของเซลเลอร์)ผลการศึกษา ความสำเร็จในการขยายลิ้นไมตรัลของบอลลูนชนิดอินุเย (37%) กับอุปกรณ์ขยายลิ้นหัวใจแบบโลหะ (37%) ไม่มีความแตกต่างกัน (p = 0.5) แต่บอลลูนชนิดอินุเยใช้ได้ไม่เกิน 2 ราย ในขณะที่อุปกรณ์ขยายลิ้นหัวใจแบบโลหะสามารถใช้ได้ไม่ต่ำกว่า 30 ครั้งสรุป ประสิทธิผลของบอลลูนชนิดอินุเยกับอุปกรณ์ขยายลิ้นหัวใจแบบโลหะไม่แตกต่างกัน แต่อุปกรณ์ขยายลิ้นหัวใจแบบโลหะสามารถนำกลับมาใช้ได้หลายครั้งเป็นการลดค่าใช้จ่ายในการรักษา
ที่มา
Master of Science คณะ Health Development จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2545
คำสำคัญ
therapy, Mitral, stenosis, valve