เภสัชจลนศาสตร์ของยาไดอาซีแพมผ่านกระพุ้งแก้มและไส้ตรงเพื่อการระงับชักในเด็ก
เด่นพงศ์ พัฒนเศรษฐานนท์
ดวงจิต พนมวัน ณ อยุธยา
บทคัดย่อ
ศึกษาเภสัชจลนศาสตร์ของยาไดอาซีแพมเมื่อให้ยาทางกระพุ้งแก้ม และศึกษาความเป็นไปได้ที่จะใช้เป็นวิถีใหม่ในการให้ยา เพื่อระงับอาการชักในเด็กแทนการให้ยาทางทวารหนัก โดยเปรียบเทียบพารามิเตอร์ทางเภสัชจลนศาสตร์ ระหว่างการให้ยาทางกระพุ้งแก้มกับทางทวารหนัก การศึกษานี้เป็นแบบ Opened-label, randomized, 2-way crossover trial โดยศึกษาในผู้ป่วยเด็กโรคลมชัก 20 ราย ณ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ผู้ป่วยที่เข้าร่วมการศึกษามีอายุระหว่าง 3-13 ปี น้ำหนักอยู่ระหว่าง 12 ถึง 79 กิโลกรัม มี 12 รายที่เป็นเด็กผู้หญิง ขนาดยาที่ได้รับอยู่ระหว่าง 0.13-0.5 มก./กก. ผู้ป่วยทุกรายมีการทำงานของตับและไตปกติ ค่าเฉลี่ยระดับยาสูงสุดในพลาสมาของผู้ป่วยแต่ละราย (Cmax) เท่ากับ 264.07 +-149.53 และ 314.84+-180.33 นาโนกรัม/มล. หลังจากได้รับยาทางกระพุ้งแก้มและทางทวารหนักตามลำดับ โดยค่าเฉลี่ยดังกล่าวไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P=0.184) เมื่อพิจารณาสัดส่วน Cmax ที่ช่วงความเชื่อมั่น 90% พบว่า Cmax ของการให้ยาทางกระพุ้งแก้มอยู่ในช่วง 63% ถึง 104% ของการให้ยาทางทวารหนัก เวลาที่ระดับยาขึ้นสูงสุด (Tmax) หลังจากให้ยาทางกระพุ้งแก้มช้ากว่าการให้ยาทางทวารหนัก อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (15.75 +- 7.83 และ 11.5 +- 5.64 นาที; P=0.031) ค่าคงที่ของการดูดซึมยาทางกระพุ้งแก้มเท่ากับ 21.81 +- 35.40 ต่อชั่วโมง ขณะที่ทางทวารหนักเท่ากับ 51.64 +- 76.91 ต่อชั่วโมงซึ่งไม่แตกต่างกันทางสถิติ (P=0.153) หลังจากการให้ยาไม่พบอาการข้างเคียงเกี่ยวกับ ระบบไหลเวียนเลือดและระบบทางเดินหายใจ ประสิทธิผลทางคลินิกในการระงับการชักไม่สามารถประเมินได้ในการศึกษานี้ อย่างไรก็ตาม พบว่ามีผู้ป่วย 2 รายในแต่ละเส้นทางการให้ยาที่ Cmax ถึง 500 นาโนกรัม/มล. ซึ่งเป็นระดับยาที่เชื่อว่าสามารถระงับอาการชักได้ โดยทั้ง 2 รายที่ได้รับยาทางกระพุ้งแก้มและ 1 รายที่ได้รับยาทางทวารหนักระดับยาถึงเป้าหมายที่กำหนดภายใน 5 นาทีหลังได้รับยา ผู้ป่วย 13 รายที่ได้รับยาทางกระพุ้งแก้ม และ 15 รายที่ได้รับยาทางทวารหนักมี Cmax สูงถึงระดับที่ควบคุมอาการชักได้ (200 นาโนกรัม/มล.) โดย 2 รายที่ไดรับยาทางกระพุ้งแก้ม และ 5 รายที่ได้รับยาทางทวารหนัก มีระดับยาสูงถึง 200 นาโนกรัม/มล. ภายใน 5 นาทีหลังได้รับยา มีความเป็นไปได้ที่การให้ยาไดอาซีแพมทางกระพุ้งแก้ม จะสามารถทดแทนการให้ยาทางทวารหนักได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีการปรับปรุงตำรับให้เหมาะสม กับการให้ยาทางกระพุ้งแก้มยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามควรมีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการให้ยาในขนาดที่สูงขึ้นในผู้ป่วยขณะชัก เพื่อศึกษาผลตอบสนองแท้จริงทางคลินิกต่อไป
ที่มา
Master of Science in Pharmacy คณะ Hospital and clinical pharmacy จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2544
คำสำคัญ
Diazepam, Spasms