การป้องกันอาการคลื่นไส้อาเจียนในผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดทางนรีเวชวิทยาโดยการฉีดน้ำเกลือ 0.9 ที่จุดฝังเข็มเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมด้วยวิธีสุ่ม
Li , Lei
สมใจ หวังศุภชาติ
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาประสิทธิผลของการฉีดน้ำเกลือ 0.9% ที่จุดฝังเข็ม 4 จุด เพื่อป้องกันการคลื่นไส้และอาเจียนหลังการผ่าตัดมดลูกทางหน้าท้อง รูปแบบการวิจัย: การทดลองทางคลินิกแบบสุ่มทดลอง สถานที่ที่ทำการวิจัย: โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ผู้ป่วยที่ร่วมในการวิจัย: หญิง 65 ราย ซึ่งมีระดับ ASA I-III และได้รับการผ่าตัดมดลูกออกทางหน้าท้องโดยการดมยาสลบ ผู้ป่วย 4 ราย ถูกตัดออกจากการศึกษา ผู้ป่วยที่เหลือ 61 ราย ได้รับการสุ่มเป็น 2 กลุ่มโดยผู้ป่วยและผู้ประเมินอาการ ไม่ทราบว่าผู้ป่วยอยู่ในกลุ่มศึกษาหรือกลุ่มควบคุม การรักษา: ผู้ป่วยที่เข้าข่ายการวิจัยได้รับการสุ่มเป็น 2 กลุ่ม โดยวิธีแบบบล็อคเมื่อสิ้นสุดการผ่าตัดมดลูกทางหน้าท้องและได้รับยาแก้คลายกล้ามเนื้อจากการดมยาสลบแล้วแต่ผู้ป่วยยังตื่นไม่เต็มที่ กลุ่มศึกษาได้รับการฉีดน้ำเกลือ 0.9% ที่จุดฝังเข็ม 4 จุด ได้แก่จุด SP-6 และจุด ST-36 ทั้งสองข้าง ในขณะที่กลุ่มควบคุมไม่ได้รับการฉีดยาแต่จะมีพาสเตอร์ปิดที่จุดทั้ง 4 ทั้งสองกลุ่มเพื่อไม่ให้ผู้ป่วยหรือผู้ประเมินอาการทราบ ผลที่วัด: ประสิทธิผลของการฉีดน้ำเกลือ 0.9% ที่จุดฝังเข็ม 4 จุดจะถูกประเมินใน 24 ชั่วโมงหลังการผ่าตัดโดยวัดอัตราการไม่เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียนในสองกลุ่มเป็นผลปฐมภูมิ จำนวนการขย้อน จำนวนการอาเจียน และจำนวนยาแก้อาเจียนที่ใช้ใน 24 ชั่วโมงเป็นผลทุติยภูมิ ผลการรักษา: 1. ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติของอัตราการไม่เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียนโดยรวม ในสองกลุ่ม 2. จำนวนการขย้อนและอาเจียนระหว่าง 6-24 ชั่วโมง หลังการผ่าตัดในกลุ่มศึกษาจะน้อยกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.001 ในอาการขย้อนและ p<0.005 ในอาการอาเจียน) 3. ผู้ป่วย 4 รายที่มีอาการขย้อนมากระหว่าง 24 ชั่วโมงอยู่ในกลุ่มควบคุมแต่ไม่มีผู้ป่วยขย้อนเลยในกลุ่มศึกษา 4. ไม่มีแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติระหว่างสองกลุ่มในเรื่องเวลาที่มีอาการคลื่นไส้ ระดับคะแนนของอาการและจำนวนยาที่ใช้ 5. ไม่มีผลข้างเคียงจากการฉีดน้ำเกลือ 0.9% ที่จุดฝังเข็มทั้ง 4 จุด ผลสรุป: การฉีดน้ำเกลือที่จุดฝังเข็มไม่สามารถลดอัตราการเกิดอากาศคลื่นไส้และอาเจียนโดยรวมภายใน 24 ชั่วโมงในผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดมดลูกทางหน้าท้องและได้รับการวางยาสลบทั่วไปได้ การพิสูจน์สมมุติฐานนี้จำเป็นต้องใช้ตัวอย่างการทดลองมากขึ้น เนื่องจากอัตราการเกิดอาการดังกล่าวในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์มีไม่มากเท่าที่คาดตั้งแต่ต้น อย่างไรก็ตามการให้การป้องกันดังกล่าวสามารถลดความรุนแรงและจำนวนของการขย้อนและอาเจียนได้ในระหว่าง 6-24 ชั่วโมง หลังการผ่าตัด
ที่มา
Master of Science คณะ Health Development จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2545
คำสำคัญ
Nausea, Vomiting, Hysterectomy, Acupuncture, Saline