การวิเคราะห์ต้นทุน-ผลได้ ของการจัดให้มีบริการทันตสาธารณสุขในสถานีอนามัย
นงลักษณ์ จิรชัยโศภิต
Kaemthong Indaratna
บทคัดย่อ
เพื่อพิจารณาความเป็นไปได้เชิงเศรษฐกิจ ในการจัดให้มีบริการทันตสาธารณสุขในสถานีอนามัยขนาดใหญ่ โดยศึกษาเฉพาะกรณีสถานีอนามัยตำบลเมืองเก่า อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย ผลการศึกษาพบว่าต้นทุนในการจัดบริการทันตสาธารณสุข เป็นเงิน 211,340 บาท โดยแบ่งเป็นต้นทุนที่เกิดกับผู้ให้บริการ คิดเป็นร้อยละ 92.73 (195,980 บาท) และต้นทุนที่เกิดกับผู้รับบริการคิดเป็นร้อยละ 7.27 (15,360) ในส่วนต้นทุนผู้ให้บริการนั้นเป็นต้นทุนที่เกิดกับกระทรวงสาธารณสุข 2,105 บาท และต้นทุนที่เกิดกับสถานีอนามัย 193,875 บาท ส่วนผลได้ของการจัดบริการทันตสาธารณสุขเป็นเงิน 91,328 บาท โดยแบ่งเป็นผลได้ที่เกิดกับผู้ให้บริการ คิดเป็นร้อยละ 22.10 (20,184 บาท) ผลได้ที่เกิดกับผู้รับบริการคิดเป็นร้อยละ 77.90 (71.144 บาท) ในส่วนผลได้ของผู้ให้บริการ เป็นผลได้ของกระทรวงสาธารณสุข 5,784 บาท และผลได้ของสถานีอนามัย 14,400 บาท สัดส่วนของต้นทุน-ผลได้ในการจัดบริการครั้งนี้ ต้นทุน-ผลได้สุทธิ - 120,012 อัตราส่วน ต้นทุน-ผลได้ 0.432 เมื่อแยกวิเคราะห์ด้านผู้ให้บริการพบว่ามีต้นทุนมากกว่าผลได้ ด้านผู้รับบริการมีผลได้มากกว่าต้นทุน เมื่อวิเคราะห์จุดคุ้มทุนพบว่าจำนวนผู้รับบริการที่สถานีอนามัย 1,300 คน จะเป็นจุดคุ้มทุน ผลการวิเคราะห์ความไว เมื่อคิดผลได้ผู้รับบริการที่เกี่ยวกับการแพทย์ในระยะยาวพบว่า สัดส่วนต้นทุน-ผลได้เปลี่ยนไป โดยผลได้ของการจัดบริการ 295,785 บาท มากกว่าต้นทุนของการจัดบริการ 211,340 บาท ทำให้ต้นทุน-ผลได้สุทธิเท่ากับ + 84,445 อัตราส่วนต้นทุน-ผลได้เท่ากับ 1,399 จำนวนผู้บริการที่จุดคุ้มทุนเท่ากับ 332 คน และกรณีเปลี่ยนค่าจำนวนผู้รับบริการเป็น 3 กรณี พบว่าทุกๆ ค่าจำนวนผู้บริการ มีต้นทุน-ผลได้สุทธิน้อยกว่าศูนย์ และอัตราส่วนต้นทุน-ผลได้น้อยกว่าหนึ่ง จากผลการศึกษาสรุปได้ว่า การจัดให้มีบริการทันตสาธารณสุขที่สถานีอนามัย ถ้าคิดผลได้ระยะสั้นจะไม่คุ้มทุน แต่ถ้าคิดผลได้ระยะยาว พบว่ามีความเป็นไปได้ในการจัดให้มีบริการทันตสาธารณสุขที่สถานีอนามัย
ที่มา
M.Econ. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2537
คำสำคัญ
care, Health, effectiveness, Cost, Dental, Medical, Public