การวิเคราะห์ต้นทุน-ผลได้ของระบบการกระจายยา บนหอผู้ป่วยในโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า
ปัทมากร โชติปัญญา
Apirudee Hemachudha
บทคัดย่อ
วิเคราะห์ต้นทุน-ผลได้ของการปรับปรุงระบบการกระจายบนหอผู้ป่วยใน โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ในช่วงเวลาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2544-เมษายน 2545 โดยนำแนวคิดของการกระจายยาแบบยูนิตโดสมาประยุกต์ใช้ ประกอบด้วย การกำหนดปริมาณยาที่จ่ายขึ้นไปบนหอผู้ป่วยแต่ละครั้งไม่เกิน 24 ชั่วโมง เภสัชกรเป็นผู้ตรวจเช็คยาตามสำเนาใบสั่งแพทย์ การจัดทำระบบการคืนยาที่ผู้ป่วยเหลือใช้ การจัดทำบัญชียาเบิกสำรองประจำหอผู้ป่วย พร้อมจัดให้มีเภสัชกรและพยาบาลประจำหอผู้ป่วยรับผิดชอบดูแลร่วมกัน การนำคอมพิวเตอร์มาใช้ในการคิดราคายา บันทึกการจ่ายยา พิมพ์ใบจ่ายยา ฉลากยา ควบคุมคลัง และการใช้เครื่องโทรสารในการส่งผ่านใบสั่งแพทย์จากหอผู้ป่วยไปห้องจ่ายยา ในการศึกษาได้เก็บข้อมูลก่อนและหลังการปรับปรุงระบบกระจายยานาน 3 เดือน จากหอผู้ป่วย 1 แห่ง ซึ่งคัดเลือกมาจากหอผู้ป่วยนำร่อง 5 แห่ง ผลการวิเคราะห์ต้นทุน-ผลได้ของ การปรับปรุงระบบการกระจายยาบนหอผู้ป่วยพบว่า อัตราส่วนของผลได้ : ต้นทุนเท่ากับ 16.67โดยผลได้ของการปรับปรุงระบบการกระจายยาแบบใหม่ เท่ากับ 282,284.90 บาท พบว่าผลได้สูงสุดของระบบใหม่เกิดจากการลดลงของมูลค่ายาสำรอง บนหอผู้ป่วยเป็นเงิน 286,294.50 บาท การศึกษาต้นทุนโดยรวมของการดำเนินงานในทั้งสองระบบ พบว่าต้นทุนการดำเนินงานในระบบใหม่สูงกว่าในระบบเดิม โดยต้นทุนรวมที่เพิ่มขึ้นของระบบใหม่คิดเป็น 16,937.22 บาทต่อเดือน และระบบเก่าเพิ่มขึ้นคิดเป็น 839.65 บาทต่อเดือน ในระบบใหม่มีค่าแรงผู้ช่วยเภสัชกรเป็นต้นทุน มูลค่าสูงที่สุดเท่ากับ 7,061.22 บาทต่อเดือน ส่วนในระบบเดิมมีค่าใบจ่ายยาเป็นต้นทุนมูลค่าสูงที่สุดเท่ากับ 592.86 บาทต่อเดือน ผลการศึกษาชี้ว่าระบบการกระจายยาที่ปรับปรุงขึ้นใหม่นี้คุ้มกับการลงทุน เมื่อเปรียบเทียบกับระบบเดิม เมื่อนำข้อมูลที่ได้จากการวิจัยมาวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลปฐมภูมิของอีก 4 หอผู้ป่วยนำร่อง สามารถหาอัตราส่วนผลได้ : ต้นทุนของการปรับปรุงระบบการกระจายยาในอีก 4 หอผู้ป่วยนำร่องได้ เท่ากับ 11.74 ดังนั้นผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า ควรมีการขยายงานระบบนี้ต่อไปอีกในโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า
ที่มา
M.Sc. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2544
คำสำคัญ
effectiveness, Drug, Cost, Hospital, distribution, Hospitals, Pramongkutklao, systems