ต้นทุน-ประสิทธิผลของการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เปรียบเทียบโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์และศูนย์บริการสาธารณสุข 16 ลุมพินี
นภัสนันท์ ลิ้มสันติธรรม
Manisri Puntularp
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์ของงานวิจัยนี้คือ ศึกษาต้นทุน-ประสิทธิผลของการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังเปรียบเทียบโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์และศูนย์บริการสาธารณสุข 16 ลุมพินี ระหว่าง 1 ตุลาคม 2546-30 กันยายน 2547 โดยศึกษาจากมุมมองของผู้ให้บริการ การศึกษานี้เป็นการศึกษาข้อมูลย้อนหลังโดยใช้รูปแบบการวิจัยเชิงพรรณนา ซึ่งต้นทุนในการศึกษาครั้งนี้คิดเฉพาะต้นทุนทางตรง (Direct cost) เท่านั้น และประสิทธิผลของการดูแลผู้ป่วยวัดในเชิงการควบคุมโรคได้ของผู้ป่วย ผลการศึกษาพบว่า (1) ต้นทุนรวมของการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวาน ชนิดไม่มีโรคแทรกซ้อน ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและศูนย์บริการสาธารณสุข 16 ลุมพินี เท่ากับ 1,170,917.21 และ 738,679.67 บาท/ปี ตามลำดับ และต้นทุนรวมของการดูแลผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ชนิดไม่มีโรคแทรกซ้อน เท่ากับ 840,797.66 และ 946,625.30 บาท/ปี ตามลำดับ ต้นทุนต่อหน่วยของการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวาน ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์และศูนย์บริการสาธารณสุข 16 ลุมพินี เท่ากับ 1,885.53 และ 370.08 บาท/ครั้ง ตามลำดับ ต้นทุนต่อหน่วยของการดูแลผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง เท่ากับ 1,054.95 และ 370.08 บาท/ครั้ง ตามลำดับ (2) ประสิทธิผลในการควบคุมโรคได้ของผู้ป่วยโรคเบาหวาน ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์และศูนย์บริการสาธารณสุข 16 ลุมพินี เท่ากับ 34.79% และ 22.58% และประสิทธิผลในการควบคุมโรคได้ของผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง เท่ากับ 86.20% และ 81.26% ตามลำดับ (3) ต้นทุน-ประสิทธิผล ในการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ศูนย์บริการสาธารณสุข 16 ลุมพินี มีต้นทุนประสิทธิผลที่สูงกว่าโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โดยมีต้นทุนเท่ากับ 10,655.99 และ 20,522.39 บาท/รายที่ควบคุมได้และต้นทุน-ประสิทธิผล ในการดูแลผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงที่ศูนย์บริการสาธารณสุข 16 ลุมพินี มีต้นทุนประสิทธิผลที่สูงกว่าโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ซึ่งเหมือนกับการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวาน โดยต้นทุน-ประสิทธิผลเท่ากับ 3,255.23 และ 5,301.11 บาท/รายที่ควบคุมได้ ดังนั้นการให้ผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ไม่มีโรคแทรกซ้อนไปรับการรักษาที่สถานพยาบาลปฐมภูมิที่ศูนย์บริการสาธารณสุขแทนการเข้ารับการรักษาที่สถานพยาบาลปฐมภูมิที่โรงเรียนแพทย์หรือสถานพยาบาลตติยภูมิน่าจะเป็นนโยบายที่ควรจัดการเพื่อให้การดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังเป็นไปอย่างมีประสิทธิผล
ที่มา
M.Sc. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2547
คำสำคัญ
Chronic, effectiveness, Cost, Diseases