การศึกษาเปรียบเทียบระดับความเจ็บปวดและผลแทรกซ้อนการปลูกถ่ายกระดูกจากกระดูกเชิงกรานส่วนหน้าระหว่างด้านในและด้านนอก
ทวีชัย เตชะพงศ์วรชัย
Tawesin Tanprayoon
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์ : การศึกษานี้เพื่อเปรียบเทียบระดับความปวดจากการสกัดกระดูกจากกระดูกเชิงกรานเปลือกด้านในกับเปลือกด้านนอก สถานที่ทำการวิจัย : โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กรุงเทพมหานคร ประชากรที่ทำการศึกษา : ผู้ป่วยในของภาควิชาออร์โธปิดิกส์ ที่จำเป็นต้องรับการผ่าตัดปลูกถ่ายกระดูก และเข้าได้กับเกณฑ์การศึกษาจำนวน 61 คน ระเบียบวิธีวิจัย :ผู้ป่วยจำนวน 61 คน ที่จำเป็นต้องรับการปลูกถ่ายกระดูก ถูกเลือกสุ่มเพื่อเลือกใช้วิธีสกัดกระดูกจากกระดูกเชิงกรานเปลือกด้านใน หรือจากเปลือกด้านนอก ผู้ป่วยแต่ละคนจะถูกประเมินอาการปวดบริเวณที่สกัดกระดูกไปโดยใช้ pain visual analog scale และติดตามอาการปวดและผลข้างเคียงเป็นเวลา 3 เดือน ระดับความปวดทั้ง 2 กลุ่ม หลังผ่าตัดวันที่ 7, 30, 90 ถูกเปรียบเทียบด้วยวิธีสถิติ repeated measure ANOVA ผลการวิจัย : ไม่มีความแตกต่างทางสถิติระหว่าง อายุ, เพศ, ขนาดบาดแผล ทางสถิติระหว่าง 2 กลุ่ม ระดับความปวดในกลุ่มที่สกัดกระดูกจากเปลือกด้านใน 30 คน มีค่าเฉลี่ย 40 ในวันที่ 7,12 ในวันที่ 30, และ 5 ในวันที่ 90 ระดับความปวดในกลุ่มที่สกัดกระดูกจากเปลือกด้านนอก 31 คน มีค่าเฉลี่ย 10 ในวันที่ 7, 10 ในวันที่ 30, และ 0 ในวันที่ 90 โดยการใช้วิธีการทางสถิติ repeated measure ANOVA. พบว่าระดับความปวดในกลุ่มที่สกัดกระดูกจากเปลือกด้านนอกน้อยกว่าจากเปลือกด้านในอย่างมีนัยสำคัญ (P<0.001) โดยที่ในกลุ่มที่สกัดกระดูกจากเปลือกด้านในมีผลข้างเคียงจากอาการชาหน้าขา 1 ราย ขณะที่กลุ่มที่สกัดกระดูกจากเปลือกด้านนอกไม่มีผลข้างเคียงอื่นๆ เลย สรุป : การสกัดกระดูกจากกระดูกเชิงกรานเปลือกด้านนอก มีระดับความปวดน้อยกว่าการสกัดกระดูกจากเปลือกด้านใน
ที่มา
M.Sc. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2545
คำสำคัญ
Transplantation, Bones, Coccyx