การศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิผลของการใช้ยารับประทาน โรฟีคอกซิบ เทียบกับยาฉีดไดโคลฟิแนก ในการรักษาอาการปวดจากการผ่าตัดใหญ่ทางศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์
พงศ์ศักดิ์ ยุกตะนันทน์
สมรัตน์ จารุลักษณานันท์
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิผลของการใช้ยารับประทานโรฟีคอกซิบก่อนการผ่าตัดกับยาฉีดไดโคลฟิแนกให้หลังผ่าตัดทุก12ชั่วโมง ในการรักษาอาการปวดจากการผ่าตัดใหญ่ทางศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์ รูปแบบการทดลอง : การศึกษาแบบสุ่มเปรียบเทียบ ปกปิดอาสาสมัครและผู้ประเมิน สถานที่ทำการวิจัย : โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย วิธีการศึกษา : ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดใหญ่ทางออร์โธปิดิส์จำนวน 102รายเข้าร่วมการศึกษา ได้ข้อมูลผู้ป่วยจำนวน 96รายเพื่อนำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบ ผู้ป่วยถูกสุ่มให้รับยาเพื่อทำการศึกษาแบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกได้รับยาหลอก (31ราย) กลุ่มที่สองได้รับยารับประทานโรฟีคอกซิบ 50 มิลลิกรัมครั้งเดียวก่อนการผ่าตัดและยาหลอก (32ราย) กลุ่มที่ 3 ได้รับยาฉีดเข้ากล้ามเนื้อไดโคลฟิแนกหลังผ่าตัดทุก 12 ชั่วโมงและยาหลอก (33ราย) ผู้ป่วยทุกรายได้รับยามอร์ฟีนฉีดเข้าเส้นเลือดชนิดผู้ป่วยควบคุมการใช้ยาเอง การศึกษานี้บันทึก ปริมาณยามอร์ฟีน คะแนนการปวด ความพึงพอใจของผู้ป่วย และผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นตลอดระยะเวลา 24 ชั่วโมงหลังการผ่าตัด ผลการศึกษา : ในผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดใหญ่ทางออร์โธปิดิกส์ไม่พบความแตกต่างของปริมาณการใช้มอร์ฟีนระหว่างกลุ่มที่ได้รับยารับประทานโรฟีคอกซิบและกลุ่มที่ได้รับยาฉีดไดโคลฟิแนก (p=0.762) ผู้ป่วยกลุ่มโรฟีคอกซิบใช้มอร์ฟีนน้อยกว่ากลุ่มที่ใช้ยาหลอกร้อยละ 50 ผู้ป่วยกลุ่มไดโคลฟิแนกใช้มอร์ฟีนน้อยกว่ากลุ่มที่ใช้ยาหลอกร้อยละ 43 พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติของปริมาณมอร์ฟีนที่ใช้ของกลุ่มโรฟีคอกซิบเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มยาหลอก (17.5 มก. กับ 35 มก. p=0.003) และกลุ่มไดโคลฟิแนกเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มยาหลอก (20 มก. กับ 35 มก. P<0.001) พบความแตกต่างของอาการปวดระหว่างกลุ่มไดโคลฟิแนกและกลุ่มยาหลอกที่ 4 ชั่วโมง (p=0.003) ไม่พบความแตกต่างของอาการปวดระหว่างกลุ่มโรฟีคอกซิบและกลุ่มยาหลอก ผู้ป่วยร้อยละ 98 พอใจถึงพอใจมากที่สุดกับการรักษาอาการปวดหลังผ่าตัด ไม่พบผลข้างเคียงที่รุนแรง ผู้ป่วยร้อยละ 11 มีผลข้างเคียงแบ่งเป็น คลื่นไส้อาเจียนร้อยละ 6 หน้ามืดร้อยละ 2 มึนงงร้อยละ 1 คันร้อยละ 1 และ จุกแน่นท้องร้อยละ 1 สรุป : การให้ยาโรฟีคอกซิบ50มิลลิกรัมรับประทานครั้งเดียวก่อนการผ่าตัดมีประสิทธิผลเทียบเท่ากับการใช้ยาฉีดไดโคลฟิแนกหลังผ่าตัดทุก12ชั่วโมง เพื่อรักษาอาการปวดหลังการผ่าตัดใหญ่ทางออร์โธปิดิกส์ในระยะเวลา 24 ชั่วโมงแรก
ที่มา
M.Sc. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2545
คำสำคัญ
pain, Postoperative, Diclofinac