การศึกษาประสิทธิผลของฟลูโคนาโซขนาด 400 มิลลิกรัม ทางปากโดยการให้ซ้ำ 2 ครั้งในการรักษาโรคเกลื้อนโดยใช้รูปแบบการวิจัยชนิดการทดลองแบบสุ่มตัวอย่าง และมีตัวควบคุม
กฤษฎา มโหทาน
Montchai Chalaprawatt
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิผลในการรักษาโรคเกลื้อนโดยการใช้ฟลูโคนาโซล 400 มิลลิกรัม ทางปาก โดยการให้ซ้ำสองครั้งเปรียบเทียบกับการใช้ 20% โซเดียมไธโอซัลเฟต รูปแบบการวิจัย: การทดลองทางคลินิกแบบสุ่มตัวอย่างและมีตัวควบคุม สถานที่ทำการวิจัย: สถานบำบัดโรคผิวหนังกรุงเทพ กลุ่มตัวอย่าง: ผู้ป่วยโรคเกลื้อนที่เข้าได้กับเกณฑ์การศึกษาจำนวน 97 คน ในจำนวนนี้ผู้ป่วยอยู่จนครบการศึกษา 93 คน วิธีการศึกษา: ผู้ป่วยโรคเกลื้อนที่เข้าได้กับเกณฑ์การศึกษาจะได้รับการสุ่มเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกได้รับประทานยาฟลูโคนาโซล ในวันแรกและวันที่ 7 พร้อมกับได้รับยาหลอก (น้ำเกลือ)ไปทาเป็นเวลา 2 สัปดาห์ กลุ่มที่สองได้รับ 20% โซเดียมไธโอซัลเฟต ไปทาเป็นเวลา 2 สัปดาห์ พร้อมกับรับประทานยาหลอกในวันแรกและวันที่ 7 การวัดผล: อัตราการหายในแต่ละกลุ่มโดยประเมินจากลักษณะทางคลินิกและผลทางห้องปฏิบัติการ เมื่อครบ 4 สัปดาห์ หลังจากเริ่มต้นได้รับยา ผลการวิจัย: หลังจากควบคุมด้วยขนาดของบริเวณที่เกิดโรคบนร่างกาย ความแตกต่างระหว่างอัตราการหายในกลุ่มที่ได้รับยาฟลูโคนาโซลกับอัตราการหายในกลุ่มที่ได้รับยา โซเดียมไธโอซัลเฟต เท่ากับ 26.9 % ( 99% CI -18.0, 71.9) สรุป: มีหลักฐานไม่เพียงพอที่จะสรุปว่า การใช้ยาฟลูโคนาโซลขนาด 400 มิลลิกรัม ทางปากโดยการให้ซ้ำ 2 ครั้งมีประสิทธิผลสูงกว่า การทายา 20% โซเดียมไธโอซัลเฟต ในการรักษาโรคเกลื้อน
ที่มา
M.Sc. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2545