ผลของยาอัลฟาแคลซิดอลต่อความแข็งแรงของกล้ามเนื้อในผู้หญิงสูงอายุไทยที่มีภาวะวิตามินดีในเลือดต่ำ
ทวี ทรงพัฒนาศิลป์ทวีสิน ตันประยูร
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อประเมินผลการใช้ยา alfacalcidol ในการเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อในผู้หญิงสูงอายุไทยที่มีอายุเท่ากับหรือมากกว่า 65 ปี ซึ่งมีภาวะวิตามินดีในเลือดต่ำ โดยวัดการเพิ่มขึ้นของความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ quadriceps เทียบกับผู้ไม่ได้รับยา รูปแบบการทดลอง: การศึกษาแบบสุ่มเปรียบเทียบผลการรักษาที่มีการปกปิดอาสาสมัครและผู้ประเมิน วิธีการศึกษา: ผู้หญิงสูงอายุที่มีอายุเท่ากับหรือมากกว่า 65 ปี จำนวน 72 รายได้เข้าร่วมการศึกษานี้ ทั้งหมดนี้จะได้รับการเจาะเลือดเพื่อตรวจหาระดับ 25(OH)D[subscript 3] ฮอร์โมนพาราไธรอยและชนิดตัวจับวิตามินดี และตรวจวัดความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ผู้หญิงสูงอายุที่ตรวจพบระดับ 25(OH)D[subscript 3] น้อยกว่าหรือเท่ากับ 30 ng/ml มี 46 ราย, 42 รายตกลงใจเข้าสู่การศึกษาแบบสุ่มเปรียบเทียบผลการรักษา หลังจาก 12 สัปดาห์ จำนวนผู้หญิงสูงอายุเหลือ 40 ราย(ออกจากการศึกษา 2 ราย) ที่จะเข้ารับการตรวจวัดความแข็งแรงของกล้ามเนื้อครั้งที่สอง การศึกษาจะเปรียบเทียบความแข็งแรงของกล้ามเนื้อที่ 12 สัปดาห์เทียบกับยาหลอก ผลการศึกษา: จากการวิเคราะห์ด้วย ANCOVA พบว่ามีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความแข็งแรงของกล้ามเนื้อภายหลังได้รับยาอัลฟาแคลซิดอลเมื่อเทียบกับยาหลอก ทั้งความแข็งแรงกล้ามเนื้อที่ 30 องศา/วินาที (20.28 เทียบกับ 16.29, p=0.025) และ 60 องศา/วินาที (20.32 เทียบกับ 15.05, p=0.002) เปอร์เซนต์ของภาวะวิตามินดีในเลือดต่ำของการศึกษานี้เท่ากับ 64% ไม่พบความสัมพันธ์ที่มีนัยสำคัญทางสถิติระหว่าง ระดับ 25(OH)D[subscript 3] และฮอร์โมนพาราไธรอย กับความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ สรุป: การใช้ยา อัลฟาแคลซิดอล สามารถเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อในผู้หญิงไทยที่มีอายุเท่ากับหรือมากกว่า 65 ปี ซึ่งมีภาวะวิตามินดีในเลือดต่ำได้
ที่มา
M.Sc.
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปี 2547