ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยที่มีการอุดกั้นทางเดินหายใจขณะหลับ
วรุณศิริ ปราณีธรรม
ชนกพร จิตปัญญา
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยที่มีการอุดกั้นทางเดินหายใจขณะหลับ และเพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยด้านบุคคล ปัจจัยด้านสภาวะสุขภาพต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยที่มีการอุดกั้นทางเดินหายใจขณะหลับ กลุ่มตัวอย่างคือ ผู้ป่วยที่มีการอุดกั้นทางเดินหายใจขณะหลับที่มารับการตรวจและวินิจฉัยเป็นครั้งแรก ณ แผนกผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลรามาธิบดี และหน่วยโรคระบบทางเดินหายใจและวัณโรค โรงพยาบาลศิริราช จำนวน 120 คน เลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจง เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมประกอบด้วย แบบบันทึกข้อมูลส่วนบุคคล แบบวัดระดับความง่วงนอนในเวลากลางวัน แบบคัดกรองปัญหาสุขภาพจิต แบบประเมินคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยที่มีการอุดกั้นทางเดินหายใจขณะหลับ ผ่านการตรวจสอบความตรงตามเนื้อหาและความเที่ยงแล้ว มีค่าความเที่ยงเท่ากับ .86 .94 และ .89 ตามลำดับ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การวิเคราะห์ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน และสถิติอีต้า (Eta) ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้ 1. ผู้ป่วยที่มีการอุดกั้นทางเดินหายใจขณะหลับที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง มีระดับคุณภาพชีวิตโดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง ([Mean] = 3.27) 2. อายุ คุณภาพการนอนหลับและภาวะสุขภาพจิต มีความสัมพันธ์ทางบวกกับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยที่มีการอุดกั้นทางเดินหายใจขณะหลับอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 (r = .269 .320 และ .517 ตามลำดับ)
ที่มา
M.N.S จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2546
คำสำคัญ
Respiratory, Sleep, Diseases, organs