การศึกษาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในสถานสงเคราะห์คนชราบ้านบางแคและสถานที่พักผู้สูงอายุเอกชนในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
อัมภัสชา พานิชชอบ
บุรณี กาญจนถวัลย์
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ เป็นการวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงพรรณนา ณ จุดเวลาใดเวลาหนึ่ง (Cross-sectional descriptive study) มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาระดับคุณภาพชีวิต และปัจจัยที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเปรียบเทียบระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในสถานสงเคราะห์คนชราบ้านบางแคและสถานที่พักผู้สูงอายุเอกชนในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยศึกษาจากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 398 คน เป็นผู้สูงอายุที่อยู่ในบ้านบางแคจำนวน 203 คน และผู้สูงอายุในที่พักผู้สูงอายุเอกชน 195 คน สุ่มตัวอย่างโดยวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน จากสถานสงเคราะห์คนชราบ้านบางแคและสถานที่พักผู้สูงอายุเอกชนในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล อายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป พักอาศัยมาอย่างน้อย 6 เดือน และมีวิธีการเก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์ โดยมีเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ดังนี้ 1. แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล 2. แบบทดสอบสภาพจิตจุฬา (CMT: Chula Mental Test) 3. แบบสอบถามคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ สถิติที่ใช้ คือ ค่าเฉลี่ย ร้อยละ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน Chi-square test, Unpaired t-test และ One-way ANOVA วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป SPSS/PC ผลการวิจัยพบว่า คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในสถานสงเคราะห์คนชราบ้านบางแคและสถานที่พักผู้สูงอายุเอกชนส่วนใหญ่อยู่ในระดับดี ร้อยละ 48.8 และร้อยละ 73.8 ตามลำดับ ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ได้แก่ เพศชาย, อายุต่ำกว่า 70 ปี, การศึกษาระดับอนุปริญญาขึ้นไป, ประกอบอาชีพข้าราชการ, ก่อนเข้าพักดำรงชีวิตอยู่กับคู่สมรส, พักอาศัยในบ้านพักของตนเอง, เข้ากันได้ดีกับสมาชิกในครอบครัว, ก่อนเข้าพักคู่สมรสดูแลอย่างใกล้ชิด, ปัจจุบันไม่ได้ใช้สารเสพติด, สุขภาพแข็งแรง และตัดสินใจเข้าพักเอง พบว่ามีคุณภาพชีวิตอยู่ในระดับดี ส่วนสถานภาพสมรส และเหตุผลในการเข้าพักนั้น พบว่าลักษณะที่แตกต่างกันไม่ทำให้คุณภาพชีวิตต่างกัน จากการศึกษาเปรียบเทียบ 2 กลุ่ม พบว่า คุณภาพชีวิตด้านสภาพเศรษฐกิจ, สุขภาพ, สภาพแวดล้อม, การพึ่งพาตนเอง และคุณภาพชีวิตด้านรวมของผู้สูงอายุที่พักในสถานที่พักผู้สูงอายุเอกชนดีกว่าผู้สูงอายุที่พักในสถานสงเคราะห์คนชราบ้านบางแค ส่วนด้านกิจกรรม พบว่าไม่มีความแตกต่างกัน และจากการศึกษาความสัมพันธ์ของปัจจัยส่วนบุคคล พบว่าความพึงพอใจในด้านกิจกรรม และความพึงพอใจด้านสัมพันธภาพทางสังคม มีความสัมพันธ์กับคะแนนคุณภาพชีวิต ส่วนความพึงพอใจในลักษณะการบริการนั้นไม่มีความสัมพันธ์กับคะแนนคุณภาพชีวิต
ที่มา
M.Sc. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2546
คำสำคัญ
care, of, Quality, for, life, age, aged, assistance, centers, Day, Old, the