คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย
ยุวดี ธีระศิลป์
Decha Lalitanantpong
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงพรรณนา ณ จุดเวลาใดเวลาหนึ่ง มีจุดประสงค์เพื่อศึกษา คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย และปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ อายุ เพศ สถานภาพ สมรส ระดับการศึกษา อาชีพ รายได้ การเบิกค่ารักษาพยาบาล บทบาทในครอบครัว วิธีการรักษา ภาวะแทรกซ้อนจากการรักษา โรคที่พบร่วม และ ระยะเวลาที่รักษา โดยศึกษาจากกลุ่มตัวอย่างซึ่ง เป็นผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย จำนวน 230 คน ที่มารับการรักษาในแผนกผู้ป่วยนอก และหน่วยโรคไต โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2547 ถึง เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล คือ แบบสอบถามคุณภาพชีวิตขององค์การอนามัยโลกชุดย่อฉบับภาษาไทย (WHOQOL-BREF-THAI) สถิติที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือ ร้อยละ ค่าเฉลี่ยเลขคณิต ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบไคสแควร์ การวิเคราะห์ความแปรปรวนจำแนกทางเดียว การวิเคราะห์ความถดถอยพหุคูณแบบขั้นตอน และสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน ผลการศึกษาพบว่า 1) ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายร้อยละ 49.1 มีคุณภาพชีวิตโดยรวม อยู่ในระดับปานกลาง และสำหรับคุณภาพชีวิตรายด้าน ได้แก่ ด้านสุขภาพกาย ด้านจิตใจด้านสัมพันธภาพทางสังคม และด้านสิ่งแวดล้อม อยู่ในระดับปานกลาง คิดเป็นร้อยละ 35.2, 36.5, 40.9, และ 40.9 ตามลำดับ 2) ปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตโดยรวมได้แก่ อายุ สถานภาพสมรส ระดับการศึกษา วิธีการรักษา และภาวะแทรกซ้อนจากการรักษา 3) ปัจจัยที่สามารถทำนายคุณภาพ ชีวิตโดยรวมของผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ได้แก่ ระดับการศึกษา วิธีการรักษา และภาวะแทรกซ้อนจากการรักษา (R[subscript 2]=19.7)
ที่มา
M.Sc. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2547