พฤติกรรมการดูแลตนเองและคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุเขตลาดกระบัง
สมพร ใจสมุทร
บดี ธนะมั่น
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาพฤติกรรมการดูแลตนเอง คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ และศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยต่าง ๆ กับพฤติกรรมการดูแลตนเองของผู้สูงอายุ กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้สูงอายุที่มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร เลือกโดยวิธีการสุ่มอย่างง่าย จำนวน 405 คน เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์จากแบบสอบถามที่สร้างขึ้น และวิเคราะห์ข้อมูลสถิติเชิงพรรณนา และสถิติเชิงอนุมาน ด้วยวิธีการทดสอบไคสแควร์ที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ 0.05 ผลการวิจัยพบว่า ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ มีความสามารถในการช่วยตนเองดำเนินกิจวัตรประจำวันได้ ร้อยละ 87.7 และมีพฤติกรรมด้านการออกกำลังกาย อยู่ในเกณฑ์ 3 วันต่อสัปดาห์ ร้อยละ 76.5 ส่วนพฤติกรรมด้านการบริโภคอาหาร อยู่ในระดับดี ร้อยละ 53.8 ด้านสภาวะสุขภาพผู้สูงอายุส่วนใหญ่มีอาการเหงา/ว้าเหว่ มีการป้องกันและปฏิบัติตนโดยการนั่งสมาธิและพูดคุยกับคนรอบข้าง จากการศึกษาความแตกต่างของปัจจัยต่าง กับพฤติกรรมการดูแลตนเอง พบว่า อายุ รายได้และการเป็นสมาชิกชมรมผู้สูงอายุ กับความสามารถในการช่วยตนเองดำเนินกิจวัตรประจำวัน เพศและสิทธิในการรักษาพยาบาล กับการบริโภคอาหาร อายุ ระดับการศึกษาและการเข้าถึงบริการสุขภาพ กับการออกกำลังกาย มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) ส่วนสภาวะสุขภาพ กับความสามารถในการช่วยตนเองและผู้อื่น มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) ในเรื่องคุณภาพ ชีวิต พบว่า ผู้สูงอายุส่วนใหญ่มีคุณภาพชีวิตในระดับปานกลาง (87.4%) และจากการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยต่าง ๆ กับระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ พบว่า การเข้าถึงการบริการสุขภาพ ความสามารถในการช่วยตนเองและการออกกำลังกายมีความสัมพันธ์กับระดับคุณภาพชีวิต (p<0.05) การศึกษาครั้งนี้มีข้อเสนอแนะว่า ควรมีการจัดบริการสุขภาพแก่ผู้สูงอายุโดยเน้นเรื่องการบริโภคอาหาร การออกกำลังกาย การเข้าร่วมกิจกรรมในชมรมผู้สูงอายุและสภาพจิตใจและอารมณ์ของผู้สูงอายุ ซึ่งควรคำนึงถึงปัจจัยพื้นฐานที่แตกต่างกันของผู้สูงอายุแต่ละคน เพื่อให้ผู้สูงอายุนำความรู้ที่ได้ไปปฏิบัติให้เหมาะสมในแต่ละบุคคล
ที่มา
M.Sc. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2547