ผลของการพยาบาลตามแนวคิด 5 ซี ของโรชที่มีต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัด
ปานตา อภิรักษ์นภานนท์
Oraphun Lueboonthavatchai
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการพยาบาลตามแนวคิด 5 ซีของโรชต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัด กลุ่มที่ได้รับการพยาบาลตามแนวคิด 5 ซีของโรช ในบทบาทพยาบาลผ่าตัด และกลุ่มที่ได้รับการพยาบาลตามปรกติตั้งแต่ได้รับการวินิจฉัย การเยี่ยมก่อนผ่าตัด ระหว่างผ่าตัด หลังผ่าตัด ถึงการวางแผนกลับบ้านหรือเพื่อการรักษาต่อเนื่องจำนวน 32 คน จัดเป็นกลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลองโดยการจับคู่ กลุ่มทดลองเป็นกลุ่มที่ได้รับการพยาบาลตามแนวคิด 5 ซีของโรช และกลุ่มควบคุมเป็นกลุ่มที่ได้รับการพยาบาลตามปรกติ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย แบบวัดคุณภาพชีวิตขององค์การอนามัยโลก (WHOQOL-100) และเครื่องมือที่ใช้ในการทดลองคือ โปรแกรมการพยาบาลตาม แนวคิด 5 ซีของโรช ประกอบด้วย การมีสัมพันธภาพที่อบอุ่น สมรรถนะในการดูแล ความเชื่อมั่น ความถูกต้องทางจริยธรรม และความยึดมั่นผูกพันต่อการดูแลในบทบาทของพยาบาลผ่าตัด เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยผ่านการตรวจสอบความตรงตามเนื้อหาโดยผู้เชี่ยวชาญทางการพยาบาล ด้านการดูแลตามแนวคิดของโรช ด้านศัลยกรรม และด้านคุณภาพชีวิต จำนวน 9 ท่าน แบบวัดคุณภาพชีวิต (WHOQOL-100) มีค่าความเที่ยงเท่ากับ 0.94 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและสถิติทดสอบค่าที ผลการวิจัยสรุปได้ว่า คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัด กลุ่มที่ได้รับการพยาบาลตามแนวคิด 5 ซี ของโรช ก่อนการทดลองและภายหลังทดลองมีคุณภาพชีวิตไม่แตกต่างกัน และพบว่ากลุ่มตัวอย่างที่ได้รับการพยาบาลตามแนวคิด 5 ซี ของโรช มีคุณภาพชีวิตสูงกว่ากลุ่มที่ได้รับการพยาบาลตามปรกติอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 จึงสรุปได้ว่าการพยาบาลตามแนวคิด 5 ซี ของโรช มีผลต่อการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัด
ที่มา
M.N.S จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2542
คำสำคัญ
surgery, Cancer, Breast