ผลได้ของการให้ความรู้แก่ผู้ป่วยนอกโรคความดันโลหิตสูง
ยุคลธร จิรพงศ์พิทักษ์
Sarinee Krittiyanunt
บทคัดย่อ
การศึกษาวิจัยเชิงทดลองในผู้ป่วยนอกโรคความดันโลหิตสูงของโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต เพื่อประเมินผลได้ของการให้ความรู้โดยเภสัชกรต่อผลทางคลินิกและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย จำนวนผู้ป่วยที่ศึกษา 120 คน แบ่งเป็นกลุ่มศึกษา (ได้รับความรู้จากเภสัชกร) และกลุ่มควบคุม (ไม่ได้รับความรู้จากเภสัชกร) กลุ่มละ 60 คน ระยะเวลาศึกษา 6 เดือน อายุเฉลี่ยผู้ป่วยกลุ่มศึกษา 66.3+-10.0 ปี กลุ่มควบคุม 67.3+-11.0 ปี ผลการศึกษาพบว่าผู้ป่วยกลุ่มศึกษาควบคุมความดันโลหิตได้ดีขึ้น โดยเปรียบเทียบค่าความดันโลหิตค่าบนจากก่อนให้ความรู้และหลังให้ความรู้ ซึ่งลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) จาก 145.0+-15.5 มม.ปรอท เป็น 138.5+-13.9 มม.ปรอท แต่ลดลงเพียงเล็กน้อยและไม่มีนัยสำคัญทางสถิติในกลุ่มควบคุมจาก 145.4+-15.6 มม.ปรอท 144.9+-21.3 มม.ปรอท ผู้ป่วยกลุ่มศึกษาใช้ยาตามสั่งได้มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) จากร้อยละ 52 ในกลุ่มควบคุมไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ การเปลี่ยนแปลงวิถีการดำเนินชีวิตด้านการบริโภคอาหารรสเค็มและอาหารที่มีไขมมันสูงในกลุ่มศึกษาก็มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p=0.028 และ p=0.034) เช่นเดียวกัน โดยลดลงจากร้อยละ 91.7 และ 81.7 เป็น 50.0 และ 66.0 ตามลำดับ การประเมินผลคุณภาพชีวิตโดยแบบสอบถาม SF-36 พบว่าไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติของคะแนนเฉลี่ยที่วัดได้ (p>0.05) ในทั้ง 2 กลุ่ม อย่างไรก็ตามคะแนนเฉลี่ยที่วัดได้จากกลุ่มศึกษามีแนวโน้มสูงขึ้นหลังจากได้รับความรู้จากเภสัชกร ในด้านการหยุดยาเองที่เกิดจากอาการอันไม่พึ่งประสงค์จำนวนผู้ป่วยในกลุ่มศึกษาลดลงจากร้อยละ 6.7 เป็น 0.0 ดังนั้นการให้ความรู้แก่ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงของเภสัชกรของเภสัชกรจะส่งผลต่อการรักษาและคุณภาพชีวิต อย่างไรก็ตามการศึกษาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการศึกษา Humanistic outcomes เท่านั้น ควรวัดความพึงพอใจและความรู้เกี่ยวกับโรคและการควบคุมโรคในผู้ป่วยด้วย จึงน่าที่จะได้พัฒนาแบบสอบถามที่เหมาะสมกับคนไทยและศึกษาต่อไปเพื่อให้ได้ผลที่สมบูรณ์
ที่มา
M.Sc. in Pharm. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2542
คำสำคัญ
of, pressure, Quality, life, Blood