ผลของการให้ความรู้และคำปรึกษาแก่ผู้ป่วยนอกที่มีภาวะหัวใจวาย ณ โรงพยาบาลเลิดสิน
สมสกุล ศิริไชย
เรวดี ธรรมอุปกรณ์
บทคัดย่อ
ศึกษาผลของการให้ความรู้และคำปรึกษาแก่ผู้ป่วยนอก ที่มีภาวะหัวใจวายโดยเภสัชกร ในด้านความรู้เกี่ยวกับการรักษาภาวะหัวใจวายและพฤติกรรมการใช้ยา ความร่วมมือในการใช้ยาและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ในการวิจัยได้เก็บข้อมูลจากผู้ป่วยนอกที่มีภาวะหัวใจวาย ซึ่งมาตรวจรักษาที่คลินิกโรคหัวใจระหว่างเดือนตุลาคม 2543-มีนาคม 2544 รวมทั้งสิ้น 61 ราย โดยสุ่มตัวอย่างแบ่งผู้ป่วยเป็น กลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลอง ผู้ป่วยกลุ่มควบคุมจำนวน 30 รายจะได้รับบริการตามปกติ ส่วนผู้ป่วยกลุ่มทดลองจำนวน 31 ราย จะได้รับความรู้เกี่ยวกับภาวะหัวใจวายและการรักษาเป็นกลุ่มย่อยครั้งละ 15 นาที และได้รับคำปรึกษาการใช้ยาเป็นรายบุคคล เปรียบเทียบผลจากการเก็บข้อมูลก่อนการให้ความรู้ และโทรศัพท์สอบถามผู้ป่วยหลังการให้ความรู้ประมาณ 25 วัน โดยใช้แบบสอบถามชุดเดียวกัน ผลการศึกษาหลังจากให้ความรู้แก่ผู้ป่วยพบว่า ด้านความรู้เกี่ยวกับการรักษาภาวะหัวใจวายและพฤติกรรมการใช้ยา ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 หมวดคือ หมวดโรคและภาวะทรุดลงของโรค หมวดปัจจัยเสี่ยงและการดูแลสุขภาพ และหมวดพฤติกรรมการใช้ยา ผู้ป่วยกลุ่มทดลองมีคะแนนความรู้สูงกว่ากลุ่มควบคุม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.01) ทั้ง 3 หมวด เมื่อพิจารณาจากระดับความรู้ซึ่งแบ่งตามคะแนนเป็นความรู้ระดับดี ระดับปานกลางและระดับต่ำ พบว่าผู้ป่วยกลุ่มทดลองมีความรู้ระดับดีเพิ่มขึ้นจาก 39% เป็น 77% ระดับต่ำลดลงจาก 22% เหลือ 3% ในขณะที่กลุ่มควบคุมความรู้ระดับดีเพิ่มขึ้นจาก 30% เป็น 39% แต่ความรู้ระดับต่ำกลับเพิ่มขึ้นจาก 17% เป็น 22% ด้านความร่วมมือในการใช้ยาพิจารณาจากวิธีการนับเม็ดยาพบว่า ผู้ป่วยกลุ่มทดลองมีความร่วมมือในการใช้ยามากกว่ากลุ่มควบคุม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.01) เมื่อประเมินปัญหาของความไม่ร่วมมือในการใช้ยา จากแบบคัดกรองการใช้ยาพบว่า ผู้ป่วยกลุ่มทดลองมีปัญหาความไม่ร่วมมือในการใช้ยาลดลง มากกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.01) ผลการประเมินคุณภาพชีวิตโดยใช้แบบประเมิน SF-12 Health Survey พบว่าคะแนนคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพจิตของกลุ่มทดลอง สูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.01) แต่คะแนนคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพกายแตกต่างกัน อย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ ผลการศึกษาทั้งหมดสรุปได้ว่า การให้ความรู้และคำปรึกษาแก่ผู้ป่วยนอกที่มีภาวะหัวใจวายโดยเภสัชกร ทำให้ผู้ป่วยมีความรู้ดีขึ้นเกี่ยวกับ การรักษาภาวะหัวใจวายและพฤติกรรมการใช้ยา มีความคล่องตัวในการใช้ยา และส่งเสริมคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพจิตของผู้ป่วยให้ดีขึ้นได้
ที่มา
M.Sc. in Pharm จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2543