ผลของจิตบำบัดประคับประคองแบบกลุ่มต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยจิตเภทที่มารับการรักษาที่แผนกผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา
สุจรรยา แสงเขียวงาม
Raviwan Nivatapan
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงทดลอง มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของจิตบำบัดประคับประคองแบบกลุ่มต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยจิตเภท โดยเปรียบเทียบคุณภาพของผู้ป่วยจิตเภทที่ได้รับยาต้านโรคจิตในกลุ่มดั้งเดิมและเข้าร่วมจิตบำบัดประคับประคองแบบกลุ่มกับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยจิตเภทที่ได้รับยาต้านโรคจิตในกลุ่มดั้งเดิมเพียงอย่างเดียว สำหรับเครื่องมือที่ใช้ในการทดลองเป็นแบบประเมินอาการทางจิต (BPRS), แบบประเมินคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยจิตเภท (QLS) และแบบสอบถามความคิดเห็นของผู้ดูแลผู้ป่วยจิตเภท วิเคราะห์ข้อมูลด้วยคอมพิวเตอร์โปรแกรม SPSS กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยจิตเภทที่มารับการรักษาที่แผนกผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา อายุ 20-40 ปี จำนวน 22 คน แบ่งเป็นกลุ่มทดลอง 12 คน และกลุ่มควบคุม 10 คน ผลการวิจัยพบว่าหลังการทดลองผู้ป่วยจิตเภทที่ได้รับยาต้านโรคจิตในกลุ่มดั้งเดิมร่วมกับจิตบำบัดประคับประคองแบบกลุ่ม มีคุณภาพชีวิตดีขึ้นในด้านลักษณะความสัมพันธ์ของบุคคล ความสามารถในการทำงาน และความสมบูรณ์ของประสบการณ์ส่วนตัวอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ซึ่งแสดงว่าการได้รับยาต้านทานโรคจิตในกลุ่มดั้งเดิมและเข้าร่วมจิตบำบัดประคับประคองแบบกลุ่มทำให้ผู้ป่วยจิตเภทมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ที่มา
M.Sc. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2545