ผลของการใช้การจัดการผู้ป่วยรายกรณีต่อภาระการดูแลผู้ป่วยจิตเภทของผู้ดูแลและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยจิตเภทในชุมชน เขตกรุงเทพมหานคร
สุนันทา ศรีสาคร
สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้เป็นวิจัยกึ่งทดลอง มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเปรียบเทียบภาระการดูแลผู้ป่วยจิตเภทของผู้ดูแล ก่อนและหลังการใช้การจัดการผู้ป่วยรายกรณี และเปรียบเทียบคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยจิตเภท ก่อนและหลังการใช้การจัดการผู้ป่วยรายกรณี กลุ่มตัวอย่างคือ ผู้ดูแลผู้ป่วยจิตเภท จำนวน 50 คน และผู้ป่วยจิตเภทในชุมชนเขตกรุงเทพมหานครจำนวน 50 คน เครื่องมือที่ใช้ใน การวิจัย ได้แก่ แผนการดูแลผู้ป่วยจิตเภทในชุมชนเขตกรุงเทพมหานคร, แนวปฏิบัติการพยาบาลผู้ป่วยจิตเภทในชุมชนเขตกรุงเทพมหานคร, แบบวัดภาระการดูแลและแบบวัดคุณภาพชีวิต จากการหาค่าความเชื่อมั่นของแบบวัดตามสูตรสัมประสิทธิ์แอลฟาของครอนบาค ได้เท่ากับ 0.94 และ 0.84 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงบรรยายและสถิติทดสอบที สรุปผลการวิจัยได้ดังนี้ 1. ภาระการดูแลผู้ป่วยจิตเภทของผู้ดูแลหลังการใช้การจัดการผู้ป่วยรายกรณี ต่ำกว่าก่อนการใช้การจัดการรายกรณีอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05  2. คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยจิตเภทหลังการใช้การจัดการรายกรณี สูงกว่าก่อนใช้การจัดการผู้ป่วยรายกรณีอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 จากผลการวิจัยพบว่าการจัดการรายกรณีช่วยให้คะแนนคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเภทสูงขึ้นและลดภาระการดูแลของผู้ดูแล จึงควรมีการนำรูปแบบการจัดการรายกรณีใช้กับผู้ป่วยทางจิตเวชอื่นๆ ที่มีความเสี่ยงและความรุนแรงเช่นเดียวกับผู้ป่วยจิตเภท รวมทั้งขยายผลไปยังกลุ่มผู้ป่วยจิตเวชที่มีปัญหายุ่งยากซับซ้อนในการดูแลที่ไม่สามารถปรับตัวอยู่กับครอบครัวและสังคมได้ เพื่อศึกษาผลการดำเนินงาน ปัญหาอุปสรรคและแนวทางแก้ไขที่จะช่วยให้ผู้ป่วยจิตเวชมีคุณภาพชีวิตที่ดีมีศักดิ์ศรีในสังคมต่อไป
ที่มา
วารสารพยาบาลจิตเวชและสุขภาพจิต ปี 2550, July-December ปีที่: 21 ฉบับที่ 2 หน้า 12
คำสำคัญ
โรคจิต, คุณภาพชีวิต, การจัดการรายกรณี, การพยาบาลจิตเวช, จิตเภท, ปฏิบัติการพยาบาล, ผู้ป่วยจิตเภท, ภาระการดูแล