ประสิทธิภาพของการใช้ฮอร์โมนรักษากลุ่มอาการตาแห้งในสตรีวัยหมดประจำเดือน
ณรงชัย ผิวคำศรีบุญเรือง, พัฒนารี ล้วนรัตนากร, วรลักษณ์ สมบูรณ์พร*, ศรีนารี แก้วฤดี, สุกรี สุนทราภา, เพียงจิต เทียรไพศาล
Department of Obstetrics and Gynecology, Faculty of Medicine, Khon Kaen University, Khon Kaen 40002, Thailand. Phone: 043-363-030, Fax: 043-348-395. E-mail: wsomboonporn@yahoo.com
บทคัดย่อ
ภูมิหลัง: ผลของฮอร์โมนทดแทนที่มีต่อกลุ่มอาการตาแห้งยังเป็นที่ถกเถียงกันวัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาประสิทธิภาพของการใช้ฮอร์โมนในการรักษากลุ่มอาการตาแห้งในสตรีวัยหมดประจำเดือน วัสดุและวิธีการ: สตรีวัยหมดประจำเดือนในชุมชน 42 คน ที่มีกลุ่มอาการตาแห้ง และไม่ได้ใช้ยาอะไรจะได้รับการสุ่มเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มละ 21 ราย กลุ่มแรกได้รับแผ่นแปะผิวหนัง 17β-estradiol (50 ไมโครกรัมต่อวัน) และรับประทานยาเม็ด medroxy progesterone acetate (2.5 มิลลิกรัมต่อวัน) กลุ่มที่สองได้รับยาหลอกในรูปแผ่นแปะผิวหนังและชนิดเม็ดรับประทาน เป็นระยะเวลาติดต่อกัน 3 เดือน ข้อมูลของผู้ป่วยทั้งหมดได้นำมาวิเคราะห์ผล การวัดผลที่สำคัญได้แก่ การดีขึ้นของอาการตาแห้ง ระดับน้ำตา ความดันลูกตา ความหนาของกระจกตา และระยะเวลา ของการระเหยของน้ำตาที่ 6 และ 12 อาทิตย์ หลังการได้รับยาผลการศึกษา: ที่ 12 สัปดาห์จำนวนผู้ป่วยหญิงในกลุ่มที่ได้ฮอร์โมนที่มีอาการตาแห้งดีขึ้น มีจำนวนมากกว่ากลุ่มที่ได้รับยาหลอกแต่ความแตกต่างนี้ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ (RR 0.25, 95% CI 0.04-2.80 และ 0.60, 95% CI 0.33-2.03 ในตาข้างขวาและซ้ายตามลำดับ) สำหรับตัวชี้วัดอื่นไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติระหว่างสองกลุ่ม สรุป: ไม่มีหลักฐานที่ต่อต้านหรือสนับสนุนถึงการใช้ฮอร์โมนในการรักษากลุ่มอาการตาแห้ง ข้อจำกัดในด้านจำนวนกลุ่มตัวอย่างที่น้อยเกินไปอาจทำให้ความแตกต่างนี้ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ
ที่มา
วารสารจดหมายเหตุทางการแพทย์ ปี 2553, June ปีที่: 93 ฉบับที่ 6 หน้า 647-652
คำสำคัญ
Menopause, Dry eye syndrome, Hormone therapy