คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยที่ได้รับขาเทียมระดับเหนือเข่าและใต้เขา
Manimmanakorn N, พัทธ์ปิยา สีระสาพร*, เอกสิทธิ์ ภู่ศิริภิญโญDepartment of PM&R, Faculty of Medicine, Khon Kaen University, Khon Kaen, Thailand 40002. E-mail: spatpiya@kku.ac.th
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาคุณภาพชีวิตและปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยที่ได้รับขาเทียมระดับเหนือเข่าและใต้เข่ารูปแบบการวิจัย: การศึกษาเชิงพรรณนาแบบตัดขวางสถานที่ทำการวิจัย: หน่วยกายอุปกรณ์เสริมและเทียม โรงพยาบาลศรีนครินทร์กลุ่มประชากร: ผู้ป่วยที่ได้รับขาเทียมระดับเหนือเข่าหรือใต้เข่าข้างหนึ่งจำนวน 50 คน ในช่วงเดือนมิถุนายน 2550-มีนาคม 2551วิธีการศึกษา: ใช้แบบสอบถามเก็บข้อมูล 2 ส่วน ประกอบด้วยข้อมูลทั่วไป และข้อมูลด้านคุณภาพชีวิต โดยใช้ WHOQOL-BREF ฉบับภาษาไทยผลการศึกษา: ผู้ป่วยมีอายุเฉลี่ย 42 ปี (ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน 14.15) ร้อยละ 82 เป็นเพศชาย 41 คน ร้อยละ 18 เป็นเพศหญิง 9 คน โดยร้อยละ 38 เป็นระดับเหนือเข่า 19 คน และร้อยละ 62 เป็นระดับใต้เข่า 31 คน ผู้ป่วยมีค่าเฉลี่ยคะแนนคุณภาพชิวิตด้านร่างกายเท่ากับ 22.82 คะแนน (ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน 2.69) คุณภาพชีวิตด้านจิตใจเท่ากับ 20.52 คะแนน (ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน 2.92) คุณภาพชีวิตด้านความสัมพันธ์ทางสังคมเท่ากับ 9.16 คะแนน (ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน 1.96) คุณภาพชีวิตด้านสิ่งแวดล้อม เท่ากับ 24.36 คะแนน (ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน 3.12) คุณภาพชีวิตโดยร่วมเท่ากับ 82.60 คะแนน (ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน 7.22) โดยคะแนนคุณภาพชีวิตทุกด้านบ่งชี้ว่าผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตระดับกลางๆ ส่วนปัจจัยด้านรายได้ตนเองมีความสัมพันธ์กับคะแนนคุณภาพชีวิตด้านสังคม (p= 0.000) โดยกลุ่มที่มีรายได้ตนเอง < 5000 บาทต่อเดือนมีคะแนนคุณภาพชีวิตด้านสังคมสูงกว่ากลุ่มที่มีรายได้ตนเอง 5000-10000 บาทต่อเดือน ส่วนปัจจัยด้านความเพียงพอต่อรายได้และสาเหตุการตัดขามีความสัมพันธ์กับคะแนนคุณภาพชีวิตด้านสิ่งแวดล้อม (p=0.030 และ 0.010) โดยพบว่า กลุ่มที่รู้สึกว่ารายได้เพียงพอมีคะแนนคุณภาพชีวิตด้านสิ่งแวดล้อมสูงกว่ากลุ่มที่รู้สึกว่าไม่เพียงพอ กล่าที่ตัดขาจากโรคมีคะแนนคุณภาพชีวิตด้านสิ่งแวดล้อมสูงกว่ากลุ่มที่มีสาเหตุจากอุบัติเหตุ ส่วนปัจจัยด้านอายุพบว่ากลุ่มอายุ 56-65 ปี มีคะแนนคุณภาพชีวิตด้านสิ่งแวดล้อมสูงกว่ากลุ่มอายุ 36-45 ปี (p=0.013) และกลุ่มอายุ 46-55 ปี มีคะแนนคุณภาพชีวิตด้านสิ่งแวดล้อมสูงกว่ากลุ่มอายุ 36-45 ปี (p= 0.015)สรุป: คะแนนคุณภาพชีวิตของผู้ที่ได้รับขาเทียมระดับเหนือเข่าและใต้เข่าอยู่ในระดับกลางๆ ทั้งหมด โดยปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อคุณภาพชีวิตได้แก่ รายได้ตนเอง รายได้เพียงพอ สาเหตุการตัดขา และอายุ
ที่มา
เวชศาสตร์ฟื้นฟูสาร ปี 2552, January
ปีที่: 20 ฉบับที่ 1 หน้า 4-9
คำสำคัญ
Quality of life, คุณภาพชีวิต, Amputee, Lower limb prosthesis, ขาเทียม, ผู้ป่วยขาขาด