ผลการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจที่บ้านต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว
ณัฐริกา โสไล*, ทวีลักษณ์ วรรณฤทธิ์, นิตยา ภิญโญคำ
Maharaj Nakorn Chiang Mai Hospital, Chiang Mai Province
บทคัดย่อ
การฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจที่บ้านเป็นการให้ความรู้และส่งเสริมให้มีพฤติกรรมสุขภาพอย่างเหมาะสม ชะลอความรุนแรงของโรคส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดความพึงพอใจในด้านสุขภาพนำไปสู่คุณภาพชีวิต การวิจัยกึ่งทดลองครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจที่บ้านต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวที่เข้ารับการรักษาที่คลินิกโรคหัวใจและหลอดเลือดในโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง เลือกแบบเฉพาะเจาะจงตามเกณฑ์ที่กำหนดจำนวน 40 ราย แบ่งเป็นกลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลองกลุ่มละ 20 ราย โดยกลุ่มทดลองได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจที่บ้าน และกลุ่มควบคุมได้รับการพยาบาลตามปกติ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย 1) โปรแกรมการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจผู้วิจัยสร้างตามแนวคิดของสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (2545) และการทบทวนวรรณกรรม ซึ่งผ่านการตรวจสอบความถูกต้องของเนื้อหาโดยผู้ทรงคุณวุฒิ 2) แบบบันทึกข้อมูลทั่วไป และ 3) แบบประเมินคุณภาพชีวิตของเฟอร์รานส์ และพาวเวอรส์ (Ferrans & Powers, 1985) แปลโดยอัจฉรา สุคนธสรรพ์ (Quality of Life Index-Cardiac, Version IV THAI) (Ferran, 2007) ทดสอบความเชื่อมั่น โดยใช้สัมประสิทธิ์แอลฟาของครอนบาคมีค่าเท่ากับ .90 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติพรรณนา และการทดสอบค่าทีผลการศึกษาพบว่า1. คะแนนเฉลี่ยคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวกลุ่มที่ได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจที่บ้านดีกว่ากลุ่มที่ได้รับการพยาบาลตามปกติอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .0012. คะแนนเฉลี่ยคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวภายหลังได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจที่บ้านดีกว่าก่อนได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจที่บ้านอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001ผลการศึกษาครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจที่บ้านอย่างต่อเนื่องส่งผลให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวดีขึ้น ดังนั้นจึงควรนำโปรแกรมการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจที่บ้านนี้ไปใช้ต่อไป
ที่มา
พยาบาลสาร ปี 2551, October-December ปีที่: 35 ฉบับที่ 4 หน้า 108-119
คำสำคัญ
การฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจที่บ้าน, คุณภาพชีวิต, ผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว, Quality of life, Home cardiac rehabilitation program, Heart failure patients