ผลของโปรแกรมการส่งเสริมสมรรถนะแห่งตนและการสนับสนุนทางสังคมต่อพฤติกรรมการรับประทานอาหารของผู้สูงอายุโรคหลอดเลือดหัวใจ
ทัศนา ชูวรรธนะปกรณ์, พิกุล ตินามาส*, ศิริรัตน์ ปานอุทัย
Boromarajonani College of Nursing, Chiang Mai, Chiang Mai Province
บทคัดย่อ
การออกกำลังกายเป็นพฤติกรรมส่งเสริมสุขภาพซึ่งช่วยเพิ่มความสามารถในการทำหน้าที่ของร่างกายและเพิ่มคุณภาพชีวิต การวิจัยเชิงทดลองครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมการส่งเสริมสมรรถนะแห่งตนและการสนับสนุนทางสังคมต่อพฤติกรรมการออกกำลังกายของผู้สูงอายุโรคหลอดเลือดหัวใจ กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้สูงอายุโรคหลอดเลือดหัวใจที่มารับการรักษาที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 30 ราย รวบรวมข้อมูลระหว่าง เดือนพฤศจิกายน 2549 ถึง เดือนกุมภาพันธ์ 2550 คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างตามคุณสมบัติที่กำหนดและสุ่มเข้ากลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมกลุ่มละ 15 ราย โดยให้มีลักษณะใกล้เคียงกันมากที่สุดในเรื่องเพศ อายุคะแนนการรับรู้สมรรถนะแห่งตนในการออกกำลังกาย คะแนนการได้รับการสนับสนุนทางสังคมในการออกกำลังกาย และคะแนนพฤติกรรมการออกกำลังกาย กลุ่มทดลองได้รับโปรแกรมการส่งเสริมสมรรถนะแห่งตนและการสนับสนุนทางสังคมส่วนกลุ่มควบคุมไม่ได้รับโปรแกรม เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วยเครื่องมือดำเนินการวิจัยได้แก่ โปรแกรมการส่งเสริมสมรรถนะแห่งตนและการสนับสนุนทางสังคมในการออกกำลังกาย ผู้วิจัยสร้างขึ้นตามทฤษฎีการรับรู้สมรรถนะแห่งตนของแบนดูรา (Bandura, 1997) และแนวคิดการสนับสนุนทางสังคมของเฮาส์ (House, 1981) เครื่องมือรวบรวมข้อมูลได้แก่ แบบสัมภาษณ์ข้อมูลส่วนบุคคล แบบวัดการรับรู้สมรรถนะแห่งตนในการออกกำลังกายผู้วิจัยสร้างขึ้นตามแนวคิดของแบนดูรา (Bandura, 1997) แบบวัดการได้รับการสนับสนุนทางสังคมในการออกกำลังกายผู้วิจัยสร้างขึ้นตามแนวคิดของเฮ้าส์ (House, 1981) และแบบสัมภาษณ์พฤติกรรมการออกกำลังกายของผู้สูงอายุโรคหลอดเลือดหัวใจผู้วิจัยสร้างขึ้นจากการทบทวนวรรณกรรม ตรวจสอบความตรงตามเนื้อหาของแบบวัดโดยผู้ทรงคุณวุฒิมีค่าเท่ากับ .84 .85 และ .85 ตามลำดับ ทดสอบความเชื่อมั่นโดยใช้สัมประสิทธิ์ิอัลฟาของครอนบาคมีค่าเท่ากับ .86 .87 และ .94 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติพรรณนา ทดสอบสมมติฐานโดยใช้สถิติทดสอบค่าเฉลี่ยของประชากร 2 กลุ่มอิสระต่อกันและสถิติทดสอบค่าเฉลี่ยของประชากร 2 กลุ่มสัมพันธ์กันผลการวิจัยพบว่า1. คะแนนพฤติกรรมการออกกำลังกายของผู้สูงอายุโรคหลอดเลือดหัวใจกลุ่มที่ได้รับโปรแกรมการส่งเสริมสมรรถนะแห่งตนและการสนับสนุนทางสังคมสูงกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับโปรแกรมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < .001)2. คะแนนพฤติกรรมการออกกำลังกายของผู้สูงอายุโรคหลอดเลือดหัวใจหลังได้รับโปรแกรมการส่งเสริมสมรรถนะแห่งตนและการสนับสนุนทางสังคมสูงกว่าก่อนได้รับโปรแกรมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < .001)ผลของการวิจัยครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าโปรแกรมการส่งเสริมสมรรถนะแห่งตนและการสนับสนุนทางสังคมในพฤติกรรมการออกกำลังกายของผู้สูงอายุโรคหลอดเลือดหัวใจส่งผลให้พฤติกรรมการออกกำลังกายของผู้สูงอายุโรคหลอดเลือดหัวใจเพิ่มขึ้น สามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติการพยาบาลต่อไป
ที่มา
พยาบาลสาร ปี 2551, July-September ปีที่: 35 ฉบับที่ 3 หน้า 72-83
คำสำคัญ
การสนับสนุนทางสังคม, การรับรู้สมรรถนะแห่งตน, ผู้สูงอายุโรคหลอดเลือดหัวใจ, พฤติกรรมการรับประทานอาหาร, Social support, Perceived self-efficacy, Eating behavior, Elderly with coronary artery disease