ผลของโปรแกรมการส่งเสริมสมรรถนะแห่งตนและการสนับสนุนทางสังคมต่อพฤติกรรมการบริโภคอาหารในผู้สูงอายุที่เป็นเบาหวาน
กนกพร สุคำวัง, พรนภา ไชยอาสา*, มล.อัครอนงค์ ปราโมช
Maesariang Hospital, Mae Hong Son Province
บทคัดย่อ
ปัญหาสำคัญของโรคเบาหวานในผู้สูงอายุคือการไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่เหมาะสมเป็นพฤติกรรมส่งเสริมสุขภาพที่จะสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ การวิจัยกึ่งทดลองครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมการส่งเสริมสมรรถนะแห่งตนและการสนับสนุนทางสังคมต่อพฤติกรรมการบริโภคอาหารในผู้สูงอายุที่เป็นเบาหวาน กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้สูงอายุที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 จำนวน 30 รายที่รับการรักษาที่คลินิกโรคเบาหวาน โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดแม่ฮ่องสอน รวบรวมข้อมูลระหว่างเดือนธันวาคม พ.ศ.2549 ถึงเดือนเมษายน พ.ศ. 2550 คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจง และสุ่มเข้ากลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมกลุ่มละ 15 รายโดยมีความคล้ายคลึงกันในด้านคะแนนการรับรู้สมรรถนะแห่งตนในการบริโภคอาหาร คะแนนการสนับสนุนทางสังคมในการบริโภคอาหาร และคะแนนพฤติกรรมในการบริโภคอาหาร กลุ่มทดลองได้รับโปรแกรมการส่งเสริมสมรรถนะแห่งตนและการสนับสนุนทางสังคม ส่วนกลุ่มควบคุมได้รับการพยาบาลตามปกติ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ เครื่องมือดำเนินการวิจัยประกอบด้วยโปรแกรมการส่งเสริมสมรรถนะแห่งตนและการสนับสนุนทางสังคมในพฤติกรรมการบริโภคอาหารของผู้สูงอายุที่เป็นเบาหวาน ผู้วิจัยสร้างขึ้นตามทฤษฎีสมรรถนะแห่งตนของแบนดูรา (Bandura, 1997) และแนวคิดการสนับสนุนทางสังคมของเฮาส์ (House, 1981) แบบสัมภาษณ์การรับรู้ สมรรถนะแห่งตนในการ บริโภคอาหารของผู้สูงอายุที่เป็นเบาหวานผู้วิจัยสร้างตามแนวคิดของแบนดูรา (Bandura, 1997)และแบบสัมภาษณ์การสนับสนุนทางสังคมในการบริโภคอาหารของผู้สูงอายุที่เป็นเบาหวานผู้วิจัยสร้างขึ้นตามแนวคิดของเฮาส์ (House, 1981) เครื่องมือเก็บรวบรวมข้อมูลได้แก่ แบบสัมภาษณ์ข้อมูลทั่วไป และแบบสัมภาษณ์พฤติกรรมการบริโภคอาหารของผู้สูงอายุที่เป็นเบาหวาน ผ่านการตรวจสอบความตรงตามเนื้อหาจากผู้ทรงคุณวุฒิ และทดสอบความเชื่อมั่นโดยใช้สัมประสิทธิ์อัลฟาของครอนบาคโดยแบบสัมภาษณ์การรับรู้สมรรถนะแห่งตนในการบริโภคอาหาร แบบสัมภาษณ์การสนับสนุนทางสังคมในการบริโภคอาหาร และแบบสัมภาษณ์พฤติกรรมการบริโภคอาหารมีค่าดัชนีความตรงตามเนื้อหาเท่ากับ .91, .90, .91 ตามลำดับ และมีค่าสัมประสิทธิ์อัลฟาของครอนบาคเท่ากับ .82, .89, .84 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลใช้สถิติพรรณนา ทดสอบสมมติฐานใช้สถิติทดสอบค่าเฉลี่ยของประชากร 2 กลุ่มอิสระต่อกัน และสถิติทดสอบค่าเฉลี่ยของประชากร 2 กลุ่มสัมพันธ์กันผลการวิจัยพบว่า1. คะแนนพฤติกรรมการบริโภคอาหารของผู้สูงอายุที่เป็นเบาหวานกลุ่มที่ได้รับโปรแกรมการส่งเสริมสมรรถนะแห่งตนและการสนับสนุนทางสังคมสูงกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับโปรแกรมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < .001)2. คะแนนพฤติกรรมการบริโภคอาหารของผู้สูงอายุที่เป็นเบาหวานหลังได้รับโปรแกรมการส่งเสริมสมรรถนะแห่งตนและการสนับสนุนทางสังคมสูงกว่าก่อนได้รับโปรแกรมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < .001)ผลการวิจัยครั้งนี้สามารถใช้เป็นแนวทางสำหรับบุคลากรด้านสุขภาพในการส่งเสริมพฤติกรรมการบริโภคอาหารในผู้สูงอายุที่เป็นเบาหวานต่อไปได้
ที่มา
พยาบาลสาร ปี 2551, July-September ปีที่: 35 ฉบับที่ 3 หน้า 59-71
คำสำคัญ
การสนับสนุนทางสังคม, การรับรู้สมรรถนะแห่งตน, ผู้สูงอายุที่เป็นเบาหวาน, พฤติกรรมการบริโภคอาหาร, Social support, Perceived self-efficacy, Food consumption behavior, Elderly with diabetes mellitus