ผลของโปรแกรมการส่งเสริมสมรรถนะแห่งตนและการสนับสนุนทางสังคมต่อพฤติกรรมการออกกำลังกายและความดันโลหิตในผู้สูงอายุโรคความดันโลหิตสูง
ศิริรัตน์ ปานอุทัย, สมบัติ ไชยวัณณ์, สายฝน กันธมาลี*
Nakornping Hospital, Chiang Mai Province
บทคัดย่อ
การออกกำลังกายเป็นพฤติกรรมส่งเสริมสุขภาพที่สามารถควบคุมระดับความดันโลหิตและป้องกันภาวะแทรกซ้อนในผู้สูงอายุโรคความดันโลหิตสูง ปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมส่งเสริมสุขภาพคือ การรับรู้สมรรถนะแห่งตนและการสนับสนุนทางสังคม การวิจัยเชิงทดลองครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมการส่งเสริมสมรรถนะแห่งตนและการสนับสนุนทางสังคมต่อพฤติกรรมการออกกำลังกายและความดันโลหิตในผู้สูงอายุโรคความดันโลหิตสูง กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้สูงอายุโรคความดันโลหิตสูง 40 ราย ที่เข้ารับการรักษาที่คลินิกโรคความดันโลหิตสูงโรงพยาบาลนครพิงค์ จังหวัดเชียงใหม่ สุ่มเข้ากลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมกลุ่มละ 20 ราย ทั้งสองกลุ่มมีความคล้ายคลึงกัน เครื่องมือดำเนินการวิจัยประกอบด้วยโปรแกรมการส่งเสริมสมรรถนะแห่งตนและการสนับสนุนทางสังคมในการออกกำลังกายที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น เครื่องมือรวบรวมข้อมูลประกอบด้วยแบบสัมภาษณ์ข้อมูลส่วนบุคคล และแบบสัมภาษณ์การได้รับการสนับสนุนทางสังคมในการออกกำลังกาย ผู้วิจัยสร้างขึ้นตามแนวคิดของเฮาส์ (House, 1981) มีค่าดัชนีความตรงตามเนื้อหาเท่ากับ .94 แบบสัมภาษณ์พฤติกรรมการออกกำลังกาย และแบบสัมภาษณ์การรับรู้สมรรถนะแห่งตนในการออกกำลังกายสร้างโดยสุวิมล สันติเวส (2545) ทดสอบความเชื่อมั่นของแบบสัมภาษณ์พฤติกรรมการออกกำลังกาย แบบสัมภาษณ์การรับรู้สมรรถนะแห่งตน และแบบสัมภาษณ์การได้รับการสนับสนุนทางสังคมในการออกกำลังกายโดยใช้สัมประสิทธิ์อัลฟาของครอนบาคมีค่าเท่ากับ .96, .95 และ .92 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติพรรณนา สถิติทดสอบค่าเฉลี่ยของประชากร 2 กลุ่มอิสระต่อกัน (independent t-test) และสถิติทดสอบค่าเฉลี่ยของประชากร 2 กลุ่มสัมพันธ์กัน (paired t-test)ผลการศึกษาพบว่า1. ค่าเฉลี่ยคะแนนพฤติกรรมการออกกำลังกายของผู้สูงอายุโรคความดันโลหิตสูงกลุ่มทดลองหลังได้รับโปรแกรมสูงกว่าก่อนได้รับโปรแกรม และสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .0012. ค่าเฉลี่ยความดันโลหิตทั้งซิสโตลิคและไดแอสโตลิคของผู้สูงอายุโรคความดันโลหิตสูงกลุ่มทดลองหลังได้รับโปรแกรมต่ำกว่าก่อนได้รับโปรแกรม และต่ำกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001ผลการวิจัยครั้งนี้สามารถใช้เป็นแนวทางสำหรับบุคลากรด้านสุขภาพในการส่งเสริมพฤติกรรมการออกกำลังกายและควบคุมความดันโลหิตในผู้สูงอายุโรคความดันโลหิตสูง
ที่มา
พยาบาลสาร ปี 2550, October-December ปีที่: 34 ฉบับที่ 4 หน้า 93-103
คำสำคัญ
การสนับสนุนทางสังคม, โรคความดันโลหิตสูง, ผู้สูงอายุ, การรับรู้สมรรถนะแห่งตน, พฤติกรรมการออกกำลังกาย, Social support, Perceived self-efficacy, Exercise behavior, Hypertensive elderly