ผลของการออกกำลังกายแบบไท่ จี๋ ชี่กงต่อความจำในผู้สูงอายุ
มล.อัครอนงค์ ปราโมช, ศิริรัตน์ ปานอุทัย, สุภาวดี ทองนอก*
Changpeuk Hospital, Chiang Mai Province
บทคัดย่อ
เมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุสมองจะเกิดการเปลี่ยนแปลงช้าๆ อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้สูงอายุมีความจำลดลง การออกกำลังกายแบบไท่ จี๋ ชี่กงเป็นการออกกำลังกายแบบแอโรบิคที่มีรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างกายและจิตที่ช่วยส่งเสริมความจำในผู้สูงอายุได้ การวิจัยแบบทดลองครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการออกกำลังกายแบบไท่ จี๋ ชี่กงต่อความจำในผู้สูงอายุ กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ที่อาศัยอยู่ในอำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 30 ราย คัดเลือกตามคุณสมบัติที่กำหนดแล้วสุ่มเข้ากลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม กลุ่มละ 15 ราย กลุ่มทดลองมีการออกกำลังกายแบบไท่ จี๋ ชี่กง สัปดาห์ละ 3 ครั้ง เป็นเวลา 8 สัปดาห์ รวบรวมข้อมูลระหว่างเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2549 ถึงเดือนมกราคม พ.ศ. 2550 เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย เครื่องมือดำเนินการวิจัยได้แก่ คู่มือการออกกำลังกายแบบไท่ จี๋ ชี่กงที่จัดทำโดยชมรมเพื่อสุขภาพไท่ จี๋ ชี่กงเชียงใหม่ เครื่องมือรวบรวมข้อมูลได้แก่ แบบสอบถามข้อมูลทั่วไป และแบบวัดความจำของวิลาวัณย์ ไชยวงศ์ (2548) ที่สร้างตามแนวคิดของแอตคินสัน และชิฟฟริน (Atkinson & Shiffrin, 1977) และการทบทวนวรรณกรรม มีค่าดัชนีความตรงตามเนื้อหาเท่ากับ .82 ทดสอบความเชื่อมั่นโดยใช้คูเดอร์-ริชาร์ดสัน 20 มีค่าเท่ากับ .82 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนาและสถิติทดสอบทีผลการศึกษาพบว่าภายหลังการออกกำลังกายแบบไท่ จี๋ ชี่กง ผู้สูงอายุกลุ่มทดลองมีคะแนนความจำสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 และภายหลังการออกกำลังกายแบบไท่ จี๋ ชี่กงกลุ่มทดลองมีคะแนนความจำสูงกว่าก่อนการออกกำลังกายอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001ผลการวิจัยครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าการออกกำลังกายแบบไท่ จี๋ ชี่กงส่งผลให้ผู้สูงอายุมีความจำดีขึ้นจึงควรนำการออกกำลังกายแบบไท่ จี๋ ชี่กงไปใช้เพื่อการส่งเสริมความจำในผู้สูงอายุต่อไป
ที่มา
พยาบาลสาร ปี 2550, October-December ปีที่: 34 ฉบับที่ 4 หน้า 82-92
คำสำคัญ
elderly, ผู้สูงอายุ, Memory, ความจำ, Tai Chi Qigong exercise, การออกกำลังกายแบบไท่ จี๋ ชี่กง