การเปรียบเทียบผลการขัดผิวเคลือบฟันและหลุมร่องฟัน โดยการใช้หัวขัดยางกับหัวแปรงร่วมกับผงขัดฟันพิวมิสผสมน้ำเปล่าบนด้านบดเคี้ยวของฟันกรามแท้ซี่ที่ 1 ในเด็กนักเรียนประถมศึกษาปีที่ 1
พรณรงค์ รุ่งทอง
Thatako Hospital Nakornsawan Province
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงทดลองเพื่อเปรียบเทียบความสะอาดของผิวเคลือบฟันหลังจากทำการขัดฟันด้วยหัวขัดยางเปรียบเทียบกับหัวขัดแปรงร่วมกับผงขัดฟันพิวมิสผสมน้ำเปล่า ในนักเรียนประถมศึกษาปีที่ 1 เขตอำเภอท่าตะโกสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา 3 จังหวัดนครสวรรค์ เครื่องมือที่ใช้ในการทดลอง ได้แก่ อุปกรณ์การตรวจทำฟัน และเก็บรวบรวมข้อมูล จากแบบบันทึกการติดสีย้อมฟัน กลุ่มตัวอย่างจำนวน 34 คน โดยการสุ่มตัวอย่างแบบง่าย จาก 11 โรงเรียน เป็นเพศชาย 20 คน เพศหญิง 14 คน ทำการแบ่งฟันของกลุ่มตัวอย่างเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มควบคุม ได้แก่ ฟันกรามแท้ซี่ที่หนึ่งด้านบนซ้ายหรือขวา (ฟัน#16หรือ#26) ทำการย้อมแผ่นคราบจุลินทรีย์โดยไม่ทำการขัดผิวเคลือบฟันและหลุมร่องฟัน กลุ่มทดลองที่ 1 ได้แก่ ฟันกรามแท้ซี่ที่หนึ่งด้านล่างซ้าย(ฟัน#36) ทำการขัดผิวเคลือบฟันและหลุมร่องฟันด้วยหัวขัดยางร่วมกับผงขัดฟันพิวมิสขนาดหยาบปานกลาง ผสมน้ำเปล่า จากนั้นทำการย้อมแผ่นคราบจุลินทรีย์ กลุ่มทดลองที่ 2 ได้แก่ ฟันกรามแท้ซี่ที่หนึ่งด้านล่างขวา (ฟัน#46) ทำการขัดผิวเคลือบฟันและหลุมร่องฟันด้วยหัวขัดแปรงร่วมกับผงขัดฟันพิวมิสขนาดหยาบปานกลางผสมน้ำเปล่า จากนั้นทำการย้อมแผ่นคราบจุลินทรีย์ ทำการบันทึกคะแนนความสะอาดของฟันกลุ่มตัวอย่างทั้ง 3 กลุ่มดังกล่าว ทำการทดสอบสมมติฐานโดยการเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มควบคุมกับกลุ่มทดลองที่ 1 และ 2 และระหว่างกลุ่มทดลองที่ 1 และกลุ่มทดลองที่ 2 วิเคราะห์ผลโดยใช้สถิติค่าเฉลี่ยเลขคณิต ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบค่าทีผลการวิจัย พบว่า คะแนนความสะอาดของผิวเคลือบฟันและหลุมร่องฟันระหว่างกลุ่มควบคุม กับกลุ่มทดลองที่ 1 และกลุ่มทดลองที่ 2 แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และคะแนนความสะอาดของผิวเคลือบฟันและหลุมร่องฟันระหว่างกลุ่มทดลองที่ 1 กับกลุ่มทดลองที่ 2 ไม่แตกต่างกัน จากผลการวิจัยดังกล่าวสรุปได้ว่า การขัดผิวเคลือบฟันด้วยหัวขัดยางร่วมกับผงขัดพิวมิสผสมน้ำเปล่า หรือการขัดผิวเคลือบฟันด้วยหัวขัดแปรงร่วมกับผงขัดพิวมิสผสมน้ำเปล่า สามารถทำความสะอาดผิวเคลือบฟันได้ใกล้เคียงกันข้อเสนอแนะ คือ ทันตแพทย์ควรใช้น้ำยาย้อมแผ่นคราบจุลินทรีย์ เพื่อตรวจสอบการตกค้างของแผ่นคราบจุลินทรีย์ ร่วมกับการเคลือบหลุมร่องฟันและมีการทำงานเป็นทีมและมีเครื่องมือที่เพียงพอในการปฏิบัติงาน
ที่มา
วารสารโรคและภัยสุขภาพ สคร.8 ปี 2551, June-September ปีที่: 2 ฉบับที่ 3 หน้า 330-339
คำสำคัญ
Pumice, ขัดผิวเคลือบฟันและหลุมร่องฟัน, ผงขัดฟันพิวมิส, หัวขัดยาง, หัวแปรง, Occlusal surface polishing technique, Rubber cup, Nylon brush