ต้นทุน และประสิทธิผลของวิธีการคัดกรองโรคเบาหวาน
Siripen Supakankunti, วิโรจน์ เจียมจรัสรังสี, นิพา ศรีช้าง*, วิชัย เอกพลากร
College of Public Health Sciences, Chulalongkorn University
บทคัดย่อ
                การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบสมรรถนะ ต้นทุน และต้นทุนต่อการค้นพบเบาหวานรายใหม่ของวิธีการตรวจคัดกรอง 4 แบบ ในการค้นหาบุคคลที่เป็นโรคเบาหวาน การวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาในคนอายุ 35-60 ปี ที่ไม่ทราบว่าเป็นโรคเบาหวานมาก่อน อาสาสมัครทุกคนตอบแบบสอบถามการตรวจคัดกรองทุกแบบและตามด้วยการตรวจน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร (FPG) สำหรับผู้ที่ให้ผลบวกจากแบบสอบถาม โดยใช้การตรวจน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหารทุกคนเป็นวิธีการอ้างอิงเพื่อเปรียบเทียบวิธีการตรวจคัดกรองทุกแบบ การวิเคราะห์ต้นทุนและสมรรถนะ ในการตรวจคัดกรองเพียงรอบเดียว ทั้งมุมมองของสังคม และมุมมองของหน่วยบริการสุขภาพ ผลการศึกษาพบว่า วิธีการตรวจคัดกรองในเพศชายและเพศหญิง มีความไวสูงถึงสูงมาก (92-100% และ 44-94% ตามลำดับ) ขณะที่มีความจำเพาะต่ำถึงปานกลาง (21-48% และ 32-58% ตามลำดับ) ต้นทุนรวมของวิธีการตรวจคัดกรองเบาหวานแบบที่ 3 และ แบบคัดกรองที่ 2 ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงที่สุดในเพศชายและเพศหญิง คือ 196,157 และ 202,275 บาทต่อการคัดกรอง 1,000 คน ตามลำดับ และต้นทุนต่อการค้นพบเบาหวานรายใหม่ 1 ราย เป็นเงิน 12,260 -14,516 (ชาย) และ 23,526 – 45,244 บาท (หญิง) จากมุมมองของสังคม และ 5,816-7,200 และ 11,048-21,003 บาท/ราย ตามลำดับ จากมุมมองของหน่วยบริการสุขภาพ ดังนั้น วิธีการตรวจคัดครองแบบที่ 3 ซึ่งใช้หลักการของวิชัย เอกพลากร และคณะและวิธีการคัดกรองแบบที่ 2 ที่ใช้หลักของกระทรวงสาธารณสุข มีประสิทธิภาพที่ดีที่สุดและรองลงมา
ที่มา
วารสารวิชาการสาธารณสุข ปี 2553, March-April ปีที่: 19 ฉบับที่ 2 หน้า 288-299
คำสำคัญ
screening, Cost, Type 2 diabetes, ต้นทุน, risk assessment questionnaire, การคัดกรอง, แบบสอบถามประเมินปัจจัยเสี่ยง, โรคเบาหวานชนิดที่ 2