การประเมินผลทางคลินิกของเลโวเซ็ททิริซีนและบูเดสโซไนด์ ในการรักษา โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ตลอดปีตามระดับความรุนแรงของอาการ
กรรณิการ์ พรประเสริฐสุข, บุญชู กุลประดิษฐารมณ์*, วิภา บุญกิตติเจริญ
Department of Otolaryngology, Ramathibodi Hospital, 270 Rama VI Rd, Bangkok 10400, Thailand. Phone: 0-2201-1515, Fax: 0-2354-7293. E-mail: bkulapad@yahoo.com
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อเปรียบเทียบผลของยาเลโวเซ็ททิริซีนและบูเดสโซไนด์ ในการรักษาโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ตลอดปีในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงและไม่รุนแรงวัสดุและวิธีการ: เป็นการศึกษาเปรียบเทียบแบบคู่ขนาน โดยสุ่มให้ยาเม็ดเลโวเซ็ททิริซีน ขนาด 5 มิลลิกรัม หรือยาพ่นจมูกบูเดสโซไนด์ ขนาด 256 ไมโครกรัม ต่อวันเป็นเวลานาน 4 สัปดาห์ แก่ผู้ป่วยจำนวน 100 ราย ผู้ป่วยบันทึกระดับคะแนนบ่งชี้ความรุนแรงของอาการต่าง ๆ ได้แก่ คันจมูก จาม มีน้ำมูกใสไหล คัดแน่นจมูก ทั้งในช่วงเวลากลางวันและกลางคืนตลอดระยะเวลา 8 สัปดาห์ ของการศึกษา คะแนนรวมของระดับความรุนแรงของอาการทั้งหมด เรียกว่า total symptom score (TSS) ตัวแปรบ่งชี้ประสิทธิผลของยา และการเกิดโรคกลับ เมื่อหยุดยาคือ พื้นที่ใต้กร้าฟแสดงความสัมพันธ์ของการลดหรือเพิ่มของ TSS ตามเวลาโดยเปรียบเทียบกับค่า TSS พื้นฐานรวมถึงเวลาการตอบสนองต่อการรักษา และการเป็นโรคกลับเมื่อหยุดยาผลการศึกษา: ระดับความรุนแรงของอาการโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ จะจำแนกเป็นรุนแรงและไม่รุนแรง โดยใช้ median TSS เท่ากับ 8 เป็นดัชนีจำแนกเลโวเซ็ททิริซีนสามารถลดอาการของโรค ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง และไม่รุนแรง ด้วยประสิทธิผลเท่ากัน ต่างกันที่อัตราเร็วในการออกฤทธิ์ คือ 2 วัน ในผู้ที่มีอาการรุนแรง และ 1 สัปดาห์ สำหรับผู้ที่มีอาการไม่รุนแรง (p = 0.002) เมื่อหยุดยาการเกิดโรคกลับ ในกลุ่มรุนแรงจะเกิดช้ากว่าในกลุ่มไม่รุนแรง (p = 0.001) ประสิทธิผลของยาพ่นจมูกบูเดสโซไนด์ในการควบคุมอาการของกลุ่มรุนแรงจะดีกว่าในกลุ่มไม่รุนแรง (p < 0.001) แต่การเป็นโรคกลับเมื่อหยุดยาจะเกิดพร้อมกัน เมื่อเปรียบเทียบเลโวเซ็ททิริซีนและบูเดสโซไนด์ ในการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงพบว่า เลโวเซ็ททิริซีน ออกฤทธิ์เร็วกว่าบูเดสโซไนด์ คือ 2 วันและ 2 สัปดาห์ ตามลำดับ ในขณะที่ยาออกฤทธิ์เต็มที่ บูเดสโซไนด์จะมีประสิทธิผลของการรักษาสูงกว่าเลโวเซ็ททิริซีน (p = 0.004) แต่ประสิทธิผลการรักษาโดยรวมตลอด 4 สัปดาห์ของตัวยาทั้ง 2 จะใกล้เคียงกัน (p = 0.059) ในการป้องกันการเป็นโรคกลับภายหลังการหยุดยาพบว่า บูเดสโซไนด์จะมีประสิทธิ์ผลด้อยกว่า เลโวเซ็ททิริซีน (p = 0.001) อย่างไรก็ตามไม่พบความแตกต่างดังกล่าวในการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงสรุป: ประสิทธิผลของยาที่ใช้ในงานวิจัยนี้จะขึ้นอยู่กับ ระดับความรุนแรงของอาการโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ เลโวเซ็ททิริซีนมีประสิทธิผลในการรักษา และการป้องกันการเกิดโรคกลับเหนือกว่า บูเดสโซไนด์ ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงและเหมือนกันในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง
ที่มา
วารสารจดหมายเหตุทางการแพทย์ ปี 2553, February ปีที่: 93 ฉบับที่ 2 หน้า 215-223
คำสำคัญ
Budesonide, Levocetirizine, Persistent allergic rhinitis, Symptom severity