เปรียบเทียบการผ่าตัดแบบแผลเปิด และแบบเจาะผ่านผิวหนังในผู้ป่วยโรคนิ้วล็อก
ธนา บำรุงเชาว์เกษม
Division of Orthopedic Surgery, Ratchaburi Hospital, Ratchaburi 70000, Thailand. Phone: 032-327-901 ext. 2105. E-mail: tb3010@yahoo.co.th
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อเปรียบเทียบผลการผ่าตัดแบบแผลเปิด และแบบเจาะผ่านผิวหนังในผู้ป่วยโรคนิ้วล็อก วัสดุและวิธีการ: ศึกษาผู้ป่วยจำนวน 142 คน (160 นิ้ว) ที่เข้ารับการผ่าตัดโรคนิ้วล็อกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่หนึ่ง ผ่าตัดแบบแผลเปิด (ผู้ป่วย 70 คน, 80 นิ้ว) กลุ่มที่สองผ่าตัดแบบเจาะผ่านผิวหนัง (ผู้ป่วย 72 คน 80 นิ้ว) ได้บันทึกระยะเวลาการผ่าตัด, การวัดค่ามุมในการเหยียดงอข้อ proximal interphalangeal joint (PIP) ของนิ้วมือและ interphalangeal joint (IP) ของนิ้วหัวแม่มือ คะแนนความพึงพอใจของผู้ป่วย, คะแนนความเจ็บปวดหลังผ่าตัดและภาวะแทรกซ้อนโดยติดตามผลการรักษาที่ 1, 2, 3, 4, 6 และ 8 สัปดาห์ผลการศึกษา: ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดแบบแผลเปิดได้ผลดี 100% แบบเจาะผ่านผิวหนังได้ผลดี 98.75% ค่าเฉลี่ย ระยะเวลาการผ่าตัด, ค่าเฉลี่ยมุมในการเหยียดงอข้อ PIP ของนิ้วมือและ IP ของนิ้วหัวแม่มือ, ค่าเฉลี่ยคะแนนความพึงพอใจหลังผ่าตัด, ค่าเฉลี่ยคะแนนความเจ็บปวด หลังผ่าตัดไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติทั้งสองกลุ่ม ผู้ป่วยหนึ่งรายที่ผ่าตัดแบบเจาะผ่านผิวหนังไม่ประสบความสำเร็จได้เข้ารับการผ่าตัดแบบแผลเปิดสองเดือนหลังจากการผ่าตัดครั้งแรกสรุป: การผ่าตัดแบบเจาะผ่านผิวหนังในผู้ป่วยโรคนิ้วล็อกโดยใช้มีดปลายแหลม 45 องศา เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพ, ปลอดภัย และให้ผลการรักษาที่ไม่แตกต่างกับการผ่าตัดแบบแผลเปิด
ที่มา
วารสารจดหมายเหตุทางการแพทย์ ปี 2553, February ปีที่: 93 ฉบับที่ 2 หน้า 199-204
คำสำคัญ
Trigger Finger, Trigger thumb, Trigger digit, Percutaneous trigger surgery, Open trigger surgery