คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดี: การศึกษาเบื้องต้น
จตุรัตน์ กันต์พิทยา, ธิติ วีระปรียากูร, นุจรี ประทีปะวาณิช จอห์นส*, ปาริชาต พงษ์ไทย, วรยา มั่นประเสริฐ, เอื้อมแข สุขประเสริฐ
Faculty of Pharmaceutical Sciences, Khon Kaen University, Khon Kaen 40002 Tel. +66 4320 2878 Fax +66 4320 2379 E-mail: pnutja@kku.ac.th
บทคัดย่อ
                การศึกษาแบบ prospective study เพื่อประเมินคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีก่อนและหลังการรักษา 1 เดือน รวมทั้งอุบัติการณ์การเกิดอาการไม่พึงประสงค์ และผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย โดยศึกษาในผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีรายใหม่ที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ใช้แบบประเมินคุณภาพชีวิต Functional Assessment of Cancer Therapy-Hepatobilary (FACT-Hep) version 4 ฉบับภาษาไทย และแบบประเมินอาการไม่พึงประสงค์ ตามเกณฑ์ Common Toxicity Criteria Adverse Event (CTCAE) version 3 การรายงานคะแนนคุณภาพชีวิตแบ่งเป็นดีขึ้น ไม่เปลี่ยนแปลง และแย่ลง ตามระดับนัยสำคัญทางคลินิกของแบบประเมิน การวิเคราะห์คุณภาพชีวิตก่อนและหลังการรักษา ใช้ Wilcoxon Sign rank test ผลของอาการไม่พึงประสงค์ต่อคุณภาพชีวิตใช้ Mann-Whitney U test และผลของความรุนแรงของอาการไม่พึงประสงค์ต่อคุณภาพชีวิตใช้ Kruskal Wallis test การศึกษาเบื้องต้นในผู้ป่วยจำนวน 16 คน ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย (ร้อยละ 69) อายุเฉลี่ย 59 ปี ก่อนรักษาสามารถเดินหรือทำงานเบาๆ ได้ (ECOG ≤ 1, ร้อยละ 87) และได้รับการรักษาด้วยเคมีบำบัด 12 คน (ร้อยละ 75) หลังการรักษา 1 เดือน พบว่าร้อยละ 75 มีคุณภาพชีวิตไม่เปลี่ยนแปลงหรือแย่ลง อาการไม่พึงประสงค์ที่พบหลังการรักษาส่วนใหญ่ คือเหนื่อยล้า (ร้อยละ 69) เบื่ออาหาร (ร้อยละ 69) น้ำหนักลด (ร้อยละ 44) และคลื่นไส้/อาเจียน (ร้อยละ 37) และมีรายงานความรุนแรงระดับ 3 หรือ 4 หลังการรักษามากกว่าก่อนรักษา ในเรื่องเหนื่อยล้า (12.6% vs. 6.3%)  เบื่ออาหาร (43.8% vs. 18.8%) และคลื่นไส้/อาเจียน (12.5% vs 6.3%) ผู้ป่วยที่มีน้ำหนักลดหลังการรักษามีคุณภาพชีวิตต่ำกว่าผู้ป่วยที่ไม่มีน้ำหนักลดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) และความรุนแรงของอาการเหนื่อยล้าหลังการรักษา ที่เปลี่ยนแปลงเป็นลดลง คงที่ หรือมากขึ้นส่งผลต่อคุณภาพชีวิตอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p=0.05)
ที่มา
วารสารเภสัชศาสตร์อีสาน ปี 2552, September-December ปีที่: 5 ฉบับที่ 3 หน้า 191-201
คำสำคัญ
คุณภาพชีวิต, Cholangiocarcinoma, มะเร็งท่อน้ำดี, Quality of life