คุณภาพชีวิตผู้ป่วยโรคลมชัก หลังผ่าตัดหาย - ประเมินด้วยการมีอาชีพและรายได้
กฤษณพันธ์ บุณยะรัตเวช, ชนพ ช่วงโชติ, ชัยชน โลว์เจริญกุล*, ทายาท ดีสุดจิต, ธีรเดช ศรีกิจวิไลกุล, บุรณี กาญจนถวัลย์, ประดิษฐ์ อุ่นภักดิ์, ลาวัณย์ ตู้จินดา, สุกัลยา เลิศล้ำ, สุภัทรพร เทพมงคล
Chulalongkorn Comprehensive Epilepsy Program (CCEP), Division of neurology, Department of Medicine, King Chulalongkorn Memorial Hospital, Thai Red Cross Society, Rama IV Rd, Bangkok 10330, Thailand.
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: การผ่าตัดโรคลมชักโดยการประเมินแบบครบวงจรตามมาตรฐานสากล (Comprehensive epilepsy program) ได้รับการพัฒนาขึ้นในประเทศไทย จนมีระดับความสามารถและผลการผ่าตัดเท่าเทียมประเทศที่พัฒนา หลังผ่าตัดผู้ป่วยที่หายชักแต่ละราย สามารถดำเนินชีวิตได้ด้วยตนเอง และมีประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น รวมทั้งมีอาชีพ และรายได้เพิ่มขึ้นกว่าก่อนผ่าตัด การมีอาชีพและรายได้ สามารถสะท้อนถึง สุขภาพทางกายที่ปรกติและโรคลมชักที่หายหลังการผ่าตัดโดยปราศจากผลแทรกซ้อนที่สำคัญ การพึ่งพาตนเองได้ มีความสามารถ มีความคิดสร้างสรรค์ มีจิตใจใฝ่ดี รวมทั้งการมีปฏิสัมพันธ์กับสังคม จึงเป็นตัววัดสรุปรวบยอดที่สะท้อนถึงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยในสถานการณ์จริง แต่คุณภาพชีวิตผู้ป่วยโรคลมชักหลังผ่าตัด ในแง่มุมดังกล่าวนี้ ยังไม่เคยมีรายงานที่ใดมาก่อน การวิจัยนี้ จึงประเมินคุณภาพชีวิตในแง่การมีอาชีพและรายได้ที่เพิ่มขึ้น หลังการผ่าตัดโรคลมชักวัสดุและวิธีการ: ผู้ป่วยผู้ใหญ่ทุกรายที่ได้รับการผ่าตัดโรคลมชัก หลังการประเมินก่อนผ่าตัดตามขั้นตอนมาตรฐานที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2545 ถึงธันวาคม พ.ศ. 2547 ได้รับการศึกษาผลสัมฤทธิ์หลังการผ่าตัด เกี่ยวกับคุณภาพชีวิตในแง่การมีอาชีพและรายได้ที่เพิ่มขึ้น โดยจัดกลุ่มตามระดับความสามารถในการทำงาน และการมีรายได้เปรียบเทียบกับก่อนผ่าตัด ระยะเวลาติดตามอย่างต่ำ 6 เดือน ถึงนานที่สุด 3 ปี ใช้ Mc Nemar test และ paired t-test เป็นวิธีการทดสอบทางสถิติผลการศึกษา: มีผู้ป่วยผ่าตัดโรคลมชักทั้งสิ้น 111 ราย เป็นชาย 54 ราย หญิง 57 ราย อายุเฉลี่ย 33.7± 9.2 ปี ส่วนใหญ่ (82%) เป็นโรคลมชักที่ดื้อยา ชนิด temporal lobe epilepsy จาก mesial temporal sclerosis และได้รับการผ่าตัด standard anterior temporal lobectomy ที่เหลือเกิดจากเนื้องอก เซลล์สมองพิการโดยกำเนิด (cortical dysplasia) และแผลเป็น ซึ่งได้รับการผ่าตัด lesionectomy หรือ cortical resection ร่วมกับ electrocorticogram หรือ intracranial EEG โดยรวมมีผู้ป่วยหายขาดจากการชัก (Engel class I) 83.8%                 หลังการผ่าตัด จำนวนผู้ป่วยเพิ่มจากกลุ่มที่ไม่มีอาชีพ เป็นกลุ่มที่มีอาชีพและรายได้ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p< 0.001) จำนวนผู้ป่วยที่ไม่มีงานทำ ลดลง 62.1% (จาก 66 ราย เป็น 25 ราย) (p< 0.001) ผู้ป่วยกลุ่มที่มีอาชีพหรือมีเงินเดือนประจำ เพิ่มขึ้น 43.4% (จาก 30 ราย เป็น 53 ราย) (p< 0.001) ส่วนผู้ป่วยที่ยังไม่มีรายได้ พบว่าสามารถช่วยทำงานได้มากขึ้น สำหรับรายได้เฉลี่ยต่อรายต่อปี พบว่าเพิ่มขึ้นจากก่อนผ่าตัด 45.08% (จาก 55,657.85 บาทเป็น 80,748.15 บาท) (p< 0.001) โดยเห็นชัดเจนในรายที่หายขาดจากการชัก มากกว่ารายที่ยังเหลือ อาการชักอยู่บ้างสรุป: การศึกษานี้ เป็นการศึกษาแรก ที่ประเมินคุณภาพชีวิตหลังผ่าตัดโรคลมชัก โดยวิเคราะห์จากการมีอาชีพและรายได้ ผลการวิจัยพบว่า ผู้ป่วยที่หายชัก สามารถทำงาน มีอาชีพ และมีรายได้เพิ่มขึ้นจากก่อนผ่าตัดอย่างมีนัยสำคัญ และเน้นให้เห็นความสำคัญของการผ่าตัดโรคลมชัก
ที่มา
วารสารจดหมายเหตุทางการแพทย์ ปี 2548, April ปีที่: 88 ฉบับที่ Suppl 4 หน้า S207-213
คำสำคัญ
Epilepsy surgery, Income, MTLE, Occupation, QOL