คุณภาพชีวิตภายหลังการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจของผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดหลอดเลือดหัวใจ (CABG)
ดุจใจ ชัยวานิชศิริ, ธนกรณ์ งามเชวง*
Department of Rehabilitation Medicine, Faculty of Medicine, Chulalongkorn University
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดหลอดเลือดหัวใจภายหลังจากการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจ โดยใช้แบบสอบถาม SF-36 รูปแบบการวิจัย: การศึกษาเชิงพรรณนา แบบไปข้างหน้า วัสดุและวิธีการศึกษา: ได้คัดเลือกผู้ป่วยที่มารับการผ่าตัดหลอดเลือดหัวใจ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2541-เมษายน 2542 โดยไม่มีภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัด ซึ่งได้รับโปรแกรมการฟื้นสมรรถภาพหัวใจภายหลังผ่าตัด และโปรแกรมออกกำลังกายเองที่บ้านต่ออีกเป็นเวลา 12 สัปดาห์ ประเมินคุณภาพชีวิตโดยใช้แบบสอบถาม SF-36 ที่ระยะเวลาก่อนผ่าตัด, ภายหลังผ่าตัด 6 สัปดาห์ และภายหลังฟื้นฟูหัวใจ ระยะที่สองที่ 18 สัปดาห์หลังผ่าตัด ผลการศึกษา: ผู้ป่วยจำนวน 42 คน เป็นเพศชาย 22 คน อายุเฉลี่ย 58.5 ปี เพศหญิง 20 คน อายุเฉลี่ย 65.5 ปี เป็นกลุ่มผู้สูงอายุ (≥65 ปี) 23 คน มีภาวะหัวใจวายก่อนผ่าตัด 9 คนคิดค่าเฉลี่ยคุณภาพชีวิตก่อนผ่าตัดได้ 47.9 ± 19.6 เปอร์เซ็นต์ โดยผู้ป่วยหญิงมีคุณภาพชีวิตที่ก่อนผ่าตัดต่ำกว่าผู้ป่วยชายอย่างนัยสำคัญ โดยเฉพาะในหมวดข้อจำกัดเนื่องจากภาวะทางอารมณ์ และข้อจำกัดเนื่องจากสุขภาพทางกาย คิดค่าเฉลี่ยคุณภาพชีวิตที่ 6 สัปดาห์ หลังผ่าตัดได้ 50.1 ± 15.4 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งไม่มีความแตกต่างกับก่อนผ่าตัดและระหว่างเพศในทุกหมวดคุณภาพชีวิต คะแนนคุณภาพชีวิตที่ 18 สัปดาห์หลังผ่าตัดมีค่าเฉลี่ย 75.5 ±± 15.7 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากก่อนผ่าตัดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ผู้ป่วยชายมีคะแนนคุณภาพชีวิตเพิ่มขึ้น 23 ± 18.6 เปอร์เซ็นต์ ผู้ป่วยหญิงมีคะแนนคุณภาพเพิ่มขึ้น 32 ± 18.4 เปอร์เซ็นต์ โดยผู้ป่วยชายมีคะแนนในหมวดความสามารถในการทำกิจกรรมด้วยแรงกายมากกว่าผู้ป่วยหญิง ทั้งนี้ผู้ป่วยที่อายุมากกว่า 65 ปี จะมีคะแนนคุณภาพชีวิตต่ำกว่ากลุ่มที่มีอายุน้อยกว่าที่ 18 สัปดาห์หลังผ่าตัด และการมีภาวะหัวใจวายมีผลต่อระดับคะแนนคุณภาพชีวิตที่ต่ำกว่าที่ก่อนผ่าตัด แต่ไม่แตกต่างกันที่หลังผ่าตัด สรุป: คุณภาพชีวิตวัดโดย SF-36 มีค่าเพิ่มขึ้นหลังจากผ่าตัดหลอดเลือดหัวใจและฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจระยะที่ 2 เท่ากับ 27.6±19 เปอร์เซ็นต์ โดยเพศหญิง ผู้สูงอายุ และการมีภาระหัวใจวายที่ก่อนผ่าตัด มีผลในทางลบต่อค่าคะแนนคุณภาพชีวิต
ที่มา
เวชศาสตร์ฟื้นฟูสาร ปี 2544, January ปีที่: 10 ฉบับที่ 3 หน้า 107-116