การศึกษาผลของการให้การศึกษาเรื่องยาโดยเภสัชกรสมุดคู่มือประจำตัวผู้ป่วยเบาหวานและกล่องบรรจุยาพิเศษในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานประเภทที่ 2
บุษบา จินดาวิจักษ์, สุชาติ ศุภปีติพร*, เสาวภา อ่อนสนิท
Department of Outpatients, King Chulalongkorn Memorial Hospital, Bangkok 10330,Thailand.
บทคัดย่อ
หลักการและเหตุผล: อุบัติการณ์ของโรคเบาหวานเพิ่มขึ้นตลอดเวลาทั่วโลก การดูแลรักษาเบาหวานเพื่อให้ได้ผลดีที่สุดจึงเป็นสิ่งที่ต้องคำนึง การศึกษาวิจัยนี้เพื่อเปรียบเทียบดูผลของการให้การศึกษาด้านโรคเบาหวาน ให้สมุดคู่มือประจำตัวผู้ป่วยเบาหวาน การให้กล่องบรรจุยาพิเศษแก่ผู้ป่วยว่าองค์ประกอบใดมีผลต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 มากกว่ากัน วัสดุและวิธีการ: คัดเลือกผู้ป่วยเบาหวานจำนวน 360 คน โดยความสมัครใจ และใช้วิธีการสุ่มเป็น 2 กลุ่ม, 180 คน สำหรับกลุ่มควบคุม และ 180 คนสำหรับกลุ่มทดลอง ในกลุ่มทดลองยังแบ่งเป็น 4 กลุ่มย่อยโดยกลุ่มที่ 1 จะได้รับการศึกษาแนะนำเกี่ยวกับความรู้ด้านยาเบาหวานโดยเภสัชกร กลุ่ม 2 จะได้รับความรู้ด้านเบาหวานและสมุดคู่มือการดูแลเบาหวาน กลุ่ม 3 จะได้รับความรู้ด้านเบาหวานและกล่องบรรจุยาพิเศษ กลุ่มที่ 4 จะได้รับทุกชนิด ในทุกกลุ่มทดลองจะได้รับสิ่งต่างๆ ในครั้งแรกที่เข้าพบเท่านั้น และทั้งกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมจะได้รับการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดในเดือนที่ 0, 3, 6 เดือน แล้วเปรียบเทียบผลการลดลงของน้ำตาลของทั้งสองกลุ่มผลการศึกษา: ในเดือนที่ 3 ระดับน้ำตาลในเลือดของกลุ่มทดลองลดลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม โดยระดับ fasting plasma glucose จาก 152.36±39.73 ลดลงสู่ 131.52±35.22 mg% และ 150.16±41.78 สู่ระดับ 153.98±47.95 mg% ตามลำดับ; (p<0.001). ระดับ HbA1C level 8.16±1.44 ลดลงสู่ 7.72±1.26 เทียบกับกลุ่มควบคุมที่ 8.01±1.51 สู่ 8.38±1.46 (p<0.001). หลังจาก 6 เดือน, ระดับ fasting plasma glucose และ HbA1C ยังคงลดลงจาก 152.36±39.73 สู่ 145.20±46.07 mg%  ในกลุ่มทดลองและ 150.16±41.78 สู่ 159.16±54.90 mg% ในกลุ่มควบคุม (p<0.013) ระดับ HbA1C จาก 8.16±1.44 สู่ 7.91±1.27 ในกลุ่มทดลองและ 8.01±1.51 สู่ 8.38±1.36 ในกลุ่มควบคุม (p<0.001) โดยพบว่ากลุ่มที่ได้รับทั้งความรู้เรื่องเบาหวาน สมุดคู่มือผู้ป่วยเบาหวาน และกล่องบรรจุยาพิเศษ โดยระดับน้ำตาล fasting ในเลือดจาก 147.46±36.07 สู่ 125.38±31.12 mg% (p<0.000) ในช่วง 3 เดือนหลังจากได้รับการทดลองและยังคงมีการลดลงของระดับน้ำตาลในเลือดในเดือนที่ 6 หลังการทดลองจากระดับน้ำตาล147.46±36.07 สู่ 130.21±33.96 mg% (p<0.016) ซึ่งผลนี้ยังพบได้จากระดับ HbA1C ด้วย แต่ในกลุ่มที่ได้รับเฉพาะความรู้เกี่ยวกับเบาหวานอย่างเดียวกลับไม่พบว่ามีการลดลงของระดับน้ำตาลในเลือดในเดือนที่ 3 และเดือนที่ 6 (p>0.05)สรุป: การให้ความรู้ด้านเบาหวานอย่างเดียวไม่เพียงพอในการดูแลรักษาเบาหวานให้ได้ผลสูงสุดเมื่อเปรียบเทียบกับการให้ทั้งสมุดคู่มือเบาหวาน กล่องบรรจุยาพิเศษ เพื่อที่จะให้การดูแลเบาหวานมีประสิทธิภาพมากที่สุด ควรจะมีการรวมวิธีหลายๆ วิธีเข้าด้วยกัน
ที่มา
วารสารจดหมายเหตุทางการแพทย์ ปี 2548, April ปีที่: 88 ฉบับที่ 4 หน้า S134-141
คำสำคัญ
Compliance, Diabetes mellitus, Disease booklet, Education, Special medication containers