ต้นทุนและประสิทธิผลของการรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดไม่พึ่งอินซูลิน จังหวัดพิษณุโลก
ทองพูล แต้สมบัติ*, ศุภสิทธิ์ พรรณนารุโณทัย, อรทัย เขียวเจริญ
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก
บทคัดย่อ
                วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาต้นทุนและประสิทธิผลของการรักษาผู้ป่วยเบาหวานในจังหวัดพิษณุโลก เป็นการศึกษาเชิงพรรณนาย้อนหลัง สถานะสุขภาพของผู้ป่วยเบาหวาน คุณภาพบริการผู้ป่วยเบาหวานโดยใช้ดัชนีโรคที่ไม่สมควรนอนรักษาในโรงพยาบาล (Ambulatory Care Sensitive Condition; ACSCs) และต้นทุนในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคเบาหวานต่อคน ต่อปี ศึกษาใน 9 เครือข่ายสถานพยาบาล จังหวัดพิษณุโลก วิเคราะห์ต้นทุนของผู้ให้บริการเฉพาะต้นทุนผู้ป่วยนอกและต้นทุนผู้ป่วยในด้วยวิธีบนลงล่าง ตามแนวคิดการจัดกลุ่มโรคร่วม  โดยใช้ข้อมูลค่าใช้จ่ายจากฐานการบันทึกบัญชีตามเกณฑ์พึงรับพึงจ่าย และข้อมูลการบริการจากฐานข้อมูลสุขภาพประชาชนรายบุคคลที่มีอยู่ทั้งหมดภายในจังหวัด ได้แก่ ชุดข้อมูลมาตรฐาน 12 แฟ้มของโรงพยาบาล และ ชุดข้อมูลมาตรฐาน 18 แฟ้มของสถานีอนามัย ในปีงบประมาณ 2548-2549 คำนวณต้นทุนต่อคนต่อปี ใช้อัตราการใช้บริการคูณ ค่าเฉลี่ยน้ำหนักสัมพัทธ์ คูณด้วยทุนต่อน้ำหนักสัมพัทธ์ วิเคราะห์คุณภาพบริการใช้สถิติ สัดส่วน ความถี่ ร้อยละ ภาวะจอประสาทตาเสื่อม เก็บข้อมูลครั้งเดียวโดยการออกหน่วยจักษุแพทย์เคลื่อนที่ไปตรวจตาผู้ป่วยเบาหวานชนิดไม่พึ่งอินซูลินทั้งหมดที่รับการรักษาอยู่ในคลินิกเบาหวานของแต่ละสถานีอนามัย และโรงพยาบาล 8 เครือข่ายสถานพยาบาลในจังหวัดพิษณุโลก จำนวน 6,763 คน ตั้งแต่เดือนตุลาคม-ธันวาคม 2549                ผลการศึกษาพบว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ.2548 และ 2549 ต้นทุน ต่อคนต่อปี รวมผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในของผู้ป่วยเบาหวานเฉลี่ยทั้งจังหวัดเท่ากับ 3,706 และ 4,487 บาทต่อคนต่อปี  ต้นทุนของเครือข่ายโรงพยาบาลศูนย์เฉลี่ยเท่ากับ 4,440 และ 6,885 บาทต่อคนต่อปี และเครือข่ายโรงพยาบาลชุมชน 2,462-7,148 บาทต่อคนต่อปี สถานะสุขภาพผู้ป่วยเบาหวาน พิจารณาจากจำนวนโรคเรื้อรังที่เป็นร่วมกับเบาหวาน จำนวนผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานอย่างเดียวมีจำนวนลดลง 18.7% แต่จำนวนผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานและมีโรคเรื้อรังร่วม 1 โรคขึ้นไป มีจำนวนเพิ่มขึ้น 20.2-37.4% และร้อยละ 5 ของผู้ป่วยเบาหวานต้องมานอนโรงพยาบาลด้วยเบาหวานเป็นสาเหตุหลัก ซึ่งไม่สมควรนอนรักษาในโรงพยาบาลตามดัชนี ACSC ภาวะจอประสาทตาเสื่อมในผู้ป่วยเบาหวาน จากตรวจตาผู้ป่วยเบาหวานจำนวน 6,763 ราย พบเบาหวานในจอประสาทตาชนิด NPDR ร้อยละ 3.5 เบาหวานในจอประสาทตาชนิด PDR ร้อยละ 0.1 โดยผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานน้อยกว่า 5 ปี เริ่มมีภาวะ NPDR มากที่สุด ร้อยละ 31.7 โดยสรุป การรักษาผู้ป่วยเบาหวานมีต้นทุนสูง แต่ประสิทธิผลในการรักษายังไม่ดีเท่าที่ควร จึงควรจัดสรรงบประมาณสำหรับการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคเบาหวานให้สอดคล้องกับต้นทุนของหน่วยบริการ ควรพัฒนาคุณภาพระบบบริการแบบผู้ป่วยนอกสำหรับผู้ป่วยเบาหวานให้สามารถรักษาโรคเบาหวานได้ตามเป้าหมายและมีคุณภาพ
ที่มา
วารสารสุขศึกษา ปี 2550, January-April ปีที่: 30 ฉบับที่ 105 หน้า 16-29