การใช้ Heparin-Free Saline Drip Technique ขณะฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมในผู้ป่วยที่มีภาวะเสี่ยงต่อการมีเลือดออก
จิตรดา ด้วงคง, ชยันตร์ธร ปทุมานนท์, นันทนา ชปิลเลส, บุญรักษา เหล่านภาพร, สุมนกาญจน์ ลาภกิตติเจริญชัย, สุไลพร ลังบุปผา, ไพโรจน์ ยิ่งวัฒนเดช
Hemodialysis Unit, Nopparat Rajathanee Hospital
บทคัดย่อ
                การฟอกเลือดด้วยวิธี heparin-free เป็นการลดความเสี่ยงต่อภาวะเลือดออกในผู้ป่วยฟอกเลือดที่มีโอกาสเลือดออกสูง แต่อาจเพิ่มปัญหาที่เกิดจากการอุดตันของตัวกรองเลือดและสายส่งเลือด การศึกษาที่ผ่านมาพบว่าการอุดตันมักเริ่มเกิดที่บริเวณ venous trap chamber ก่อนการอุดตันในตัวกรองเลือด การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินประสิทธิภาพการฟอกเลือดด้วยวิธี heparin free-saline drip technique (HSD) แบบใหม่ เปรียบเทียบกับวิธี heparin free-saline flush technique (HSF) แบบเดิม โดยศึกษาผู้ป่วยฟอกเลือดของโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี ที่มีความเสี่ยงต่อภาวะเลือดออกสูง จำนวน14 คน ในการฟอกเลือดทั้งหมด 31 ครั้ง สุ่มผู้ป่วยเข้ากลุ่มศึกษาที่ใช้วิธี HSD และกลุ่มเปรียยบเทียบซึ่งใช้วิธี HSF ด้วยการจับฉลากล่วงหน้า ใช้อัตราการไหลของเลือด (blood flow rate) 150-250 มิลลิลิตรต่อนาทีตลอดการฟอกเลือด พบว่ากลุ่มที่ฟอกเลือดด้วยวิธี HSD เกิดการอุดตัน 2 ครั้ง (13.3%) เป็นสัดส่วนที่น้อยกว่ากลุ่ม HSF ซึ่งอุดตัน 5 ครั้ง (31.3%) (p = 0.394) และในรายที่มีการอุดตัน ระยะเวลาเฉลี่ยก่อนการอุดตันในกลุ่ม HSD นานกว่าในกลุ่ม HSF คือเท่ากับ 190 นาที (± 10.0 นาที) และ 150 นาที (±26.8 นาที) (p=0.417) ความเสี่ยงของการอุดตันในกลุ่ม HSD น้อยกว่ากลุ่ม HSF 0.33 เท่า (risk ratio = 0.33, 95%CI = 0.04 ถึง 2.97 เท่า, p = 0.324) ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าการฟอกเลือดด้วยวิธี HSD ลดการอุดตันของตัวกรองเลือดและสายส่งเลือดได้ แต่เนื่องจากกลุ่มตัวอย่างมีจำนวนน้อย จึงไม่มีอำนาจทางสถิติเพียงพอที่จะทำให้เห็นนัยสำคัญทางสถิติได้ ซึ่งเป็นข้อบ่งชี้ว่าควรสนับสนุนให้ทำการศึกษานี้ต่อไปจนกว่าจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจน
ที่มา
Bulletin of the World Health Organization ปี 2550, January-March ปีที่: 32 ฉบับที่ 1 หน้า 39-46
คำสำคัญ
Hemodialysis, Heparin, ฟอกเลือด, ไตวาย, Anticoagulant, Blood coagulation, Renal lailure, การแข็งตัวของเลือด, สารกันการแข็งตัวของเลือด, เฮพาริน