การเปรียบเทียบประสิทธิภาพของยาสีฟันสามชนิดในการลดกลิ่นมากในคนไทยกลุ่มหนึ่ง
จินตนา ศิริชุมพันธ์*, ธนกฤต ถิระวงศ์ไพศาล, ธีรวัฒน์ พัฒนกุลเลิศ, ภาณุชาติ เสนวงษ์, ศิริพร โชติไพบูลย์พันธุ์, สุคนธา เจริญวิทย์
Department of Orthodontics, Faculty of Dentistry, Chulalongkorn University
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์  เพื่อเปรียบเทียบระดับความเข้มข้นของไอระเหยของสารประกอบซัลเฟอร์ (วีเอสซี) ในช่องปากก่อน-หลังการแปรงฟันและลิ้นด้วยยาสีฟันแต่ละชนิด และเปรียบเทียบประสิทธิภาพในการลดกลิ่นปากระหว่างยาสีฟันสามชนิด วัสดุและวิธีการ  กลุ่มตัวอย่างซึ่งปราศจากพยาธิสภาพในช่องปากและโรคทางระบบ 16 คน (ชาย 8 คน หญิง 8 คน อายุ 18-22 ปี) ได้รับการวัดระดับความเข้มข้นของวีเอสซี เพื่อหากลิ่นปากตอนเช้าด้วยเครื่องออรัลโครมา จากนั้นให้กลุ่มตัวอย่างทดลอง 4 ครั้ง โดยแปรงฟันและแปรงลิ้นด้วยยาสีฟัน 3 ชนิด (อภัยภูเบศร คอลเกตโททอล 12 ซิสเท็มมาดีปอิมแพค) และยาสีฟันหรอก 1 ชนิด แล้ววัดกลิ่นปากที่เวลา 0 30 60 90 และ 120 นาทีหลังการแปรงฟันและลิ้น เปรียบเทียบระดับความเข้มข้นของวีเอสซีก่อน-หลังการแปรงฟันและลิ้น โดยใช้สถิติการทดสอบทีสำหรับกลุ่มตัวอย่างสองกลุ่มที่สัมพันธ์กัน หรือการทดสอบเชิงเครื่องหมายและลำดับที่แบบวิลคอกซัน และเปรียบเทียบประสิทธิภาพในการลดกลิ่นปากระหว่างยาสีฟันทั้งสามชนิดกับยาสีฟันหรอก โดยใช้สถิติการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว การทดสอบความเท่ากันของค่าเฉลี่ยแบบโรบัสต์ หรือการทดสอบครัสคัล-วอลลิส ที่ระดับนัยสำคัญ 0.05ผลการทดลอง ระดับความเข้มข้นของวีเอสซีลดลงอย่างมีนัยสำคัยทางสถิติที่เวลา 0, 30, 60, 90 และ 120 นาทีหลังการแปรงฟันและลิ้นด้วยยาสีฟันแต่ละชนิด (p < 0.05) เมื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพระหว่างยาสีฟันทั้งสามชนิดกับยาสีฟันหรอก ไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p > 0.05) สรุป ยาสีฟันแต่ละชนิดมีประสิทธิภาพในการลดกลิ่นปากที่เวลา 0, 30, 60, 90 และ 120 นาที หลังการแปรงฟันและลิ้น ประสิทธิภาพในการลดกลิ่นปากระหว่างยาสีฟันทั้งสามชนิดกับยาสีฟันหรอกไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
ที่มา
วารสารทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2552, January-April ปีที่: 32 ฉบับที่ 1 หน้า 1-10
คำสำคัญ
Efficiency, ประสิทธิภาพ, Toothpaste, ยาสีฟัน, ลดกลิ่นปาก, ไอระเหยของสารประกอบซัลเฟอร์, Volatile sulfur compounds, Reducing halitosis